ผู้เสียหาย 2 หมื่นรายร้อง“ยุติธรรม”ช่วยถูกหลอกกู้เงินออนไลน์สูญพันล้าน

16 พ.ย. 2564 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2564 | 15:26 น.

“เลขาฯรมว.ยุติธรรม”รับหนังสือเหยื่อถูกหลอกกู้เงินออนไลน์ พบผู้เสียหาย 2 หมื่นคน มูลค่าความเสียหายกว่าพันล้านบาท เตรียมผนึกตำรวจสอบเส้นทางการเงิน ตัดวงจรอาชญากรทางเศรษฐกิจ

วันนี้(16 พ.ย.64) ที่กระทรวงยุติธรรม ว่าที่ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับหนังสือร้องเรียนจาก น.ส.จุฑาทิพ จูพัฒนกุล ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Anti หมวกกันน็อก online หลังมีผู้เสียหายรวมกว่า 20,000 คน ได้รับผลกระทบจากการกู้ยืมเงินผ่านแอปพลิเคชั่นออนไลน์ (แอปจีน)

 

สาเหตุมาจากหลายคนเจอวิกฤติโควิด จนภาวะทางการเงินฝืดเคือง จึงจำเป็นต้องกู้เงินดังกล่าว ซึ่งกลุ่มคาดการณ์ว่าอาจมีผู้เสียหายมากถึง 1 ล้านคน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท จึงมีความประสงค์ขอร้องเรียนดังต่อไปนี้

1. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถานีตำรวจภูธร โปรดรับแจ้งความดำเนินคดีหรือรับลงบันทึกประจำวัน เพื่อให้ผู้เสียหายใช้เป็นหลักฐานในการปกป้องตัวเอง รวมถึงใช้เป็นเอกสารในการต่อสู้คดี เพราะยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยในการดำเนินคดี

 

2. เร่งรัดการไต่สวนและเพิ่มบทลงโทษ นอกเหนือจากการยึดทรัพย์ ภาคทัณฑ์ หรือบำเพ็ญประโยชน์ เพราะนายทุนหลายรายยังคงแอบประกอบธุรกิจดังกล่าวแบบเดิมโดยไม่กลัวกฎหมาย ตลอดจนข้อมูล เบอร์โทรของผู้เสียหายยังถูกนำไปใช้หากิน ประจาน และเป็นข้อต่อรอง

                      ผู้เสียหาย 2 หมื่นรายร้อง“ยุติธรรม”ช่วยถูกหลอกกู้เงินออนไลน์สูญพันล้าน

3. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบเจ้าของเงินฝากที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าว หลังมีการร้องเรียนผ่านกลุ่มฯว่า บัญชีที่มีการรับ-โอนเงินในปัจจุบันมีการเวียนสลับเปลี่ยนกัน จนกลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ และยังนำชื่อของผู้เสียหายลักลอบเปิดบัญชีโอนเงิน - ปล่อยกู้ เป็นจำนวนมาก

 

4. ขอให้สถาบันการเงินและธนาคาร พิจารณาผ่อนปรนเกณฑ์หรือเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

ว่าที่ร.ต.ธนกฤต กล่าวว่า ตนได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับทราบแล้วพร้อมมีคำสั่งให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในขณะนี้ ผ่านศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข ซึ่งความเสียหายมีมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านบาท

 

“ผมเข้าใจดีว่าสาเหตุเกิดจากประชาชนหลายคนได้รับผลกระทบจากโควิด จึงต้องเข้าหาแหล่งเงินทุนออนไลน์ดังกล่าว กระทั่งถูกหลอกให้โอนเงินไปฟรี ๆ ซึ่งผิดจากข้อตกลงเดิมที่ให้ไว้ หรือเรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่ากำหนด จนถึงขั้นมีการด่า ข่มขู่ จะเอารูปภาพที่ไม่เหมาะสมแนวลามาก อนาจารของผู้เสียหายไปประจารต่อสาธารณะ” ว่าที่ร.ต.ธนกฤต กล่าว

 

ทั้งนี้ ประเด็นที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนนั้นผิดกฎหมายหลายข้อ ตั้งแต่จัดตั้งสถาบันการเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต นำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กำหนด การฉ้อโกง การขู่กรรโชกทรัพย์ และโชว์สื่อลามกอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

 

โดยกระทรวงยุติธรรมมีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยผู้เสียหายสามารถกรอกแบบฟอร์มลงในแอปพลิเคชัน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการตามขั้นตอน จากนั้นเราจะนำเคสคดีเข้าสู่การพิจารณาเป็นคดีพิเศษ ซึ่งเราจะทำงานร่วมกับตำรวจในการสอบสวนเส้นทางการเงิน และจะประสานขอข้อมูลไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในการยึดอายัดเงินไว้ก่อน ตนยืนยันว่าเราจะปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายและอาชญากรทางเศรษฐกิจให้ไม่มีที่ยืนในสังคมตามนโยบายของรมว.ยุติธรรม

 

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ผ่านศูนย์ยุติธรรมสร้างสุขของแต่ละจังหวัด หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 ต่อ 77