พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมสำเนาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ...ฉบับที่ เพื่อให้ทางสำนักงานกกต.ประจำจังหวัดดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 77 กำหนด ภายหลังรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่1) 2564 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 22 พ.ย.2564 เป็นต้นไป
การเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจะใช้เวลาราว 15 วัน ก่อนที่สำนักงานกกต.ประจำจังหวัดจะส่งกลับมายังสำนักงานกกต.กลาง เพื่อรวบรวมความคิดเห็น นำเสนอต่อที่ประชุมกกต.และปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สำนักงานกฤษฎีกา และรัฐสภาต่อไป
สำหรับร่างพ.ร.ป.ว่าการเลือกตั้งส.ส.ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น มีการแก้ไขทั้งหมด 37 มาตรา
สาระสำคัญที่มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีการประกาศใช้ประกอบด้วย
-ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
-จำนวนส.ส.เขตมี 400 คน
-ส.ส.บัญชีรายชื่อมี 100 คน
ส่วนวิธีคำนวณส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนั้น
เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อจาก ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัดแล้ว ให้ดําเนินการคํานวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้
(1) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากบัญชีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ
(2) ให้นําคะแนนรวมจาก (1) หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน
(3) ในการคํานวณหาจํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นําคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (2) ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจํานวนเต็ม คือ จํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ โดยเรียงตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรค การเมืองนั้น
(4) ในกรณีที่จํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง ได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจํานวนไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ตาม (3) เป็นเศษที่มีจํานวนมากที่สุด ได้รับจํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน เรียงตามลําดับ จนกว่าจะมีจํานวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมด ได้รับรวมกันครบจํานวน 100 คน
(5) ในการดําเนินการตาม (4) ถ้ามีคะแนนเท่ากัน ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันจับสลากโดยตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันภายในวันและเวลาที่คณะกรรมการกําหนด เพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบจํานวน
จํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับตามผลการคํานวณข้างต้น จะต้องไม่เกินจํานวนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ใน แต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้จัดทําขึ้น
นอกจากนั้น ร่างพ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ที่กกต.ปรับปรุงแก้ไข ยังกำหนดว่า
- การแบ่งเขตส.ส.ใหม่ 400 เขต ให้เสร็จใน 90 วัน
- ส.ส.เขตใช้เบอร์เดียวกับเบอร์พรรค
- การสมัครส.ส.เปิดรับสมัครแบบแบ่งเขตก่อน แล้วจึงรับสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
-เมื่อได้เบอร์พรรคแล้วจึงใช้เบอร์นั้นกับผู้สมัครที่พรรคการเมืองส่งใน 400 เขต
-การลดเวลาลงคะแนนเลือกตั้งเหลือ 08.00-16.00น.
-การเพิ่มกรรมการประจำหน่วยเป็น 9 คน และกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต่อหน่วย 800 คน
ทั้งนี้ ทางสำนักงานกกต.ยังอยู่ระห่วางการเร่งยกร่างแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งจะมีการแก้ไขในเรื่องกระบวนการจัดทำ “ไพรมารีโหวต” ส่งผู้สมัครของพรรคการเมือง ซึ่งหลังดำเนินการเสร็จและผ่านที่ประชุมกกต.แล้ว ก็จะส่งไปยังสำนักงานกกต.จังหวัด เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องและประชาชน เช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2564 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าพบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือถึงการร่างกฎหมายลูกดังกล่าว
นายวิษณุ ระบุว่า กกต.จะเป็นผู้จัดพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่มีการทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไป
นายวิษณุ ระบุด้วยว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ทางสำนักงาน กกต.ได้ยกร่างขึ้นมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอ กกต.ใหญ่ จากนั้นจึงจะเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ และเมื่อ กกต.ใหญ่เห็นชอบแล้ว ก็จะรับฟังความเห็นในส่วนกลางคือ ฟังจากพรรคการเมืองและประชาชน
จากนั้นจะส่งร่างไปให้ กกต.จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อรับฟังความเห็นในจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะรวบรวมความเห็นกลับเข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อปรับปรุงจากนั้นจึงจะนำเสนอ ครม. และเมื่อครม.เห็นชอบก็จะส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบอีกครั้ง จากนั้นก็จะเตรียมส่งร่างดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณา