คดีของนักการเมือง โดยเฉพาะ “ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล” มีหลายคดีที่รอ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ชี้ชะตา โดยมี ส.ส. 3 คน จาก 7 คน หากศาลวินิจฉัยให้หลุดจากเก้าอี้ ส.ส. ต้องนำไปสู่การเลือกตั้งซ่อม
ไปเริ่มที่คดีแรกกันก่อน
วันพุธที่ 8 ธ.ค.2564 นี้ เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในคดีที่ 5 ส.ส.กลุ่มแกนนำ กปปส. ประกอบด้วย นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
กรณีศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.317/2564 เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง นายชุมพล นายอิสสระ และ นายณัฏฐ พล 5 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา โดยศาลอาญาออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา และขังบุคคลทั้ง 5 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในคดีล้มการเลือกตั้ง
ต่อมาบุคคลทั้ง 5 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และ กกต.เห็นว่า นายชุมพล นายอิสสระ และ นายณัฏฐพล เป็นบุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง และต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
ส่วน นายพุทธิพงศ์ และ นายถาวร เป็นบุคคลต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของบุคคลทั้ง 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ และเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายพุทธิพงษ์ นายถาวร และ นายณัฏฐพล สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ
“สิระ”ลุ้น 22 ธ.ค.64
ถัดไป วันที่ 22 ธ.ค.2564 เวลา 15.00 น. เป็นคิวของ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย พร้อมคณะส.ส.รวม 145 คน ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นส.ส.
กรณี นายสิระ เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีหมายเลขแดงที่ 2218/2538 เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่า กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา ทำให้เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 10 ) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) หรือไม่
ก่อนหน้านั้น นายสิระ เคยถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีขาดคุณสมบัติแล้วรอบหนึ่ง ที่ถูกร้องว่ามีพฤติกรรมก้าวก่าย แทรกแซงการปฏิบัติราชการในหน้าที่ประจำของเจ้าหน้าที่รัฐ ระหว่างการลงพื้นที่่ จ.ภูเก็ต แต่รอดมาได้ โดยศาลมีคำวินิจฉัยเมื่อ 1 ก.ค.2563 ระบุว่า ฟังไม่ได้ว่า นายสิระ ใช้สถานะหรือตำแหน่ง ส.ส. ก้าวก่าย แทรกแซงงานประจำของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 185(1) กำหนดไว้
ส.ส.ภูมิใจไทยคิวถัดไป
นอกจาก 2 คดีดังกล่าวแล้ว ยังมีส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอีกคนที่รอคิว “ศาลรัฐธรรมนูญ” ชี้ชะตาว่าจะหลุดจากตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่ แต่ขณะนี้ศาลยังไม่นัดวันฟังคำวินิจฉัย คือ นายสำลี รักสุทธี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กรณีขาดคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2562 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(3) วรรคสอง
โดยศาลจังหวัดมหาสารคามมีคำพิพากษาจำคุก 1 ปี 10 เดือน ปรับ 30,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี กรณีพิพาทกับสถานบันเทิงใกล้บ้าน และได้ทำลายทรัพย์สินของสถานบันเทิงดังกล่าว
คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา เมื่อ 3 พ.ย.2564 และให้ นายสาลี ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง และมีมติเอกฉันท์ให้ นายสาลี หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.64 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยตาม
คดีของ “ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล” น่าจับตาว่าผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นเช่นไร เพราะหาก 3 ส.ส. “ถาวร-ชุมพล-สิระ” หลุดจากเก้าอี้ ส.ส. ต้องนำไปสู่การ “เลือกตั้งซ่อม” อาจเป็นสนามประลองกำลังของหลายพรรค ก่อนไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป
15 ส.ส.ตกเก้าอี้
สำหรับคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ทำให้ส.ส.ต้องพ้นจากตำแหน่ง นับตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ส.ส. ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.2562 พบว่ามีส.ส.ที่ถูกศาลวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามแล้ว 15 คน
คนแรก นายนวัธ เตาะเจริญสุข อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12/2562 วันที่ 13 พ.ย.2562 จากเหตุที่ นายนวัธ ถูกศาลขอนแก่นพิพากษาลงโทษประหารชีวิต ในคดีจ้างวานฆ่าปลัด อบจ.ขอนแก่น ปี 2556 และไม่ได้รับการปล่อยตัวระหว่างอุทธรณ์
โดยตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้น ระบุว่า เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 101(6) ว่าด้วยการสิ้นสุดส.ส. ประกอบมาตรา 98 (6) ที่กำหนดว่า ห้ามคนที่ถูกพิพากษาจำคุกและถูกคุมขัง โดยหมายศาลใช้สิทธิลงเลือกตั้ง
คนที่ 2 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 14/2562 เมื่อ 20 พ.ย. 2562 กรณีถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ระหว่างลงสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม มาตรา 98 (3) กรณีเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
ถัดมาคนที่ 3 นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2563ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 28 ต.ค.2563 กรณีที่ นายธัญญ์วาริน ถือครองหุ้นบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และ บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับโฆษณา ภาพยนตร์ และการแสดง ระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98(3)
คนที่ 4 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ตามคำวินิจฉัย ที่ 1/2564 เมื่อ 27 ม.ค.2564 กรณีต้องคำพิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรมราช ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีร่วมกระทำทุจริตเลือกตั้ง อบจ.นครศรีธรรมราช ปี 2557 เข้าข่ายผิด มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98(4) และ มาตรา 96 (2) นอกจากต้องพ้นตำแหน่ง ส.ส.แล้ว นายเทพไท ยังถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี อีกด้วย
ทั้งนี้หากนับสมัยของ ส.ส.ชุดที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 พบมีกลุ่ม ส.ส.ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น คือ “ยุบพรรค” อีก 11 คน ในฐานะเป็นกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ จากคดีเงินกู้ 191.2 ล้านบาท ประกอบด้วย
นายปิยบุตร แสงกนกกุล นางสาวกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นายชำนาญ จันทร์เรือง พล.ท.พงศกร รอดชมภู นางสาวพรรณิการ์ วานิช นาไกลก้อง ไวทยาการ นายนิรามาน สุไลมาน นางสาวเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ นายสุรชัย ศรีสารคาม นายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์ และ นางสาวจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ