ป.ป.ช.โอดมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาทำถูกฟ้องแล้ว 18 คดี

09 ธ.ค. 2564 | 11:15 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2564 | 18:27 น.

ป.ป.ช.โชว์ผลงานปี 64 ทำคดีทุจริตเสร็จแล้วกว่า 4,552 คดี ร้องทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน 471 ล้าน “วัชรพล”โอดงานป.ป.ช.ไม่สบาย ชี้หลังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติฟ้องป.ป.ช.ได้ ทำถูกฟ้องแล้ว 18 คดี

วันนี้ (9 ธ.ค.64) สำนักงานป.ป.ช. จัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.  นายพีรพล พิชยวัฒน์ ประธาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)  นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วม ได้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย” เพื่อต่อต้านการทุจริต ซึ่งภายหลัง

 

พล.ต.อ.วัชรพล ได้แถลงถึงผลงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ครบรอบ 3 ปี ว่า สถิติเรื่องไต่สวนก่อน พรป. 2561 ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ทำเสร็จ 3,752 คดี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ทำเสร็จ 5,167 คดี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ทำเสร็จ 5,062 คดี ขณะที่ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ทำเสร็จ 4,552 คดี 

ส่วนกรณีสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ฟ้องคดี สำนักงาน ป.ป.ช. มีการฟ้องคดีเองเพิ่มขึ้น โดยคดีสำคัญที่ฟ้องเองชนะและคดีถึงที่สุดแล้ว เช่น คดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติให้เงินกู้แก่รัฐบาลเมียนมา 4,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจากบริษัทในเครือชินคอร์ป กรณีกล่าวหาการทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (คดีหวยบนดิน)  

 

สำหรับการตรวจสอบทรัพย์สิน  ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 22 เรื่อง เป็นเรื่องไม่ยื่นบัญชี 2 เรื่อง ยื่นบัญชีเท็จ 20 บัญชี ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติ 4 เรื่อง โดยมีมูลค่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นเงิน 746,631,860.07 บาท  

ปีงบประมาณ 2564 ดำเนินการไป 28 เรื่อง แบ่งเป็นการยื่นบัญชีเท็จ 21 บัญชี กรณีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 7 เรื่อง มีมูลค่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นเงิน 471,094,091 บาท ซึ่งการที่จำนวนเรื่องที่ส่งเข้าสู่ศาลมีจำนวนคดีลดลงต่อเนื่อง มาจากข้อกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป และ ป.ป.ช. มีการวิเคราะห์และพิสูจน์ในเรื่องของเจตนาประกอบการพิจารณาคดีด้วย

 

พล.ต.อ.วัชรพล  ยังกล่าวด้วยว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้ดำเนินการจัดสร้างชุดข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริตที่เป็นปัจจุบันเพื่อบันทึกลงในแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต โดยนำข้อมูลความเสี่ยงจากทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด นำมาวิเคราะห์ จำแนก และบันทึกเป็นชุดข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริต ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรากฏประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นคล้ายกันในหลายพื้นที่ จำนวน 3 ประเด็น คือ 

 

1.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การบุกรุกป่า การรุกล้ำลำน้ำ การจัดสรรพื้นที่ป่าเพื่อเกษตรกรรม การลักลอบดูดทรายในลำน้ำ ฯลฯ ที่เกิดขึ้นหลายจังหวัด 

 

2.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ เสาไฟฟ้าประติมากรรม เสาไฟฟ้านวัตกรรม ประปาหมู่บ้าน ทางระบายน้ำ เขื่อน ฯลฯ เกิดขึ้นในหลายจังหวัด 

 

และ 3.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต การใช้จ่ายงบประมาณโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (เงินกู้ 4 แสนล้านบาท) อาทิ โครงการโคกหนองนา โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง หรืออุทกภัย 

 

นอกจากนี้ด้านการต่างประเทศ  ป.ป.ช.ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาคดีทุจริตระหว่างประเทศ โดยเฉพาะคดีสินบนข้ามชาติ ซึ่งเป็นคดีที่มีลักษณะการกระทำผิดซับซ้อน มีมูลค่าความเสียหายมาก ป.ป.ช. จึงมุ่งเน้นการติดตามเอาทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่ประเทศไทย ควบคู่ไปกับการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในการทุจริต  

 

“หลังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติว่า ฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้  เราถูกฟ้อง 18 คดี การทำหน้าที่ ป.ป.ช.จึงไม่ใช่เรื่องสนุก และไม่สบายเท่าไหร่ แต่เราต้องต่อสู้คดีต่อไป”


ป.ป.ช.สอบ“เสรีพิศุทธ์”ปมรุกแม่น้ำแควน้อย 

 

ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีมีการยื่นเรื่องร้องเรียนกล่าวหา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กรณีบ้านพักบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาถูกกล่าวหารุกล้ำแหล่งน้ำ และกรณีศาลปกครองสูงสุดพิพากษาชี้ว่าคำสั่งอธิบดีกรมเจ้าท่าให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรีสอร์ทที่รุกล้ำแม่น้ำแควน้อยถูกต้องตามกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯอย่างร้ายแรงหรือไม่ ว่า เรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น 

 

1.กรณีบ้านพักบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกกล่าวหารุกล้ำแหล่งน้ำนั้น ป.ป.ช.อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ว่า เข้าข่ายผิดจริยธรรมฯหรือไม่ 

 

2.กรณีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รีสอร์ทรุกล้ำแม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี เรื่องนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนอย่างเป็นทางการแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้คือ การรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อไป