ตามที่ “กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น” ได้มีข้อร้องเรียนให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งมีผู้ร้องเรียนว่า กระบวนการดังกล่าวไม่ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้าน ไม่มีความเป็นธรรม และไม่มีมาตรฐาน เนื่องจากไม่คำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น
วันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหนังสือที่ นร 2507/ 4467 เรื่อง คำวินิจฉัยและข้อสั่งการขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบโครงกรในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อความระบุว่า
เรื่องเดิม
1.1คณะรัฐมนตรี (เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 มีมติเห็นชอบในหลักการการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา"เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" โดยให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
รวมทั้งให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทยสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ประธานกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
1.2 ต่อมา ได้มีกลุ่มประชาชนในนาม "จะนะรักษ์ถิ่น" ร่วมกับเครือข่ายผู้คัดค้านจากภูมิภาคอื่นๆ เช่น สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เครือข่ายคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน ได้แสดงออกถึงความพยายามในการคัดค้านในหลายโอกาส ทั้งในส่วนความพยายามขัดขวางไม่ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ตามระเบียบกฎหมายที่กำหนด การออกรายการโทรทัศน์ วิทยุและสื่อออนไลน์เพื่อแสดงทัศนะในเชิงไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาลการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงจุดยืนต่อการไม่เห็นด้วยของรัฐบาลและส่วนราชการในสถานที่ราชการ รวมทั้ง การยื่นเอกสารคัดค้านโครงการไปยังหน่วยงานฝ่ายพลเรือนที่เกี่ยวข้องและองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและส่วนราชการ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้มีคำสั่งระงับยับยั้งการดำเนินโครงการดังกล่าว
เปิดคำวินิจฉัยกรรมการสิทธิฯ-ผู้ตรวจการแผ่นดิน
การดำเนินการต่อข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ
ศอ.บต. ได้เร่งรัดสร้างกลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมีส่วนร่วมของฝ่ายปกครองและการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมของฝ่ายปกครองและการปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้คณะทำงานบูรณาการความร่วมมือและการสร้างความเข้าใจในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามโครงการเมืองต้นแบบที่ 4อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต พร้อมทั้งจัดเวทีสร้างการรับรู้ให้กับผู้นำ ประชาชนในระดับพื้นที่โดยรวม ทุกระดับประกอบด้วย ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาและผู้แทนภาคประชาชน เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
2.2 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนว่า ศอ.บต. ไม่ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็น
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้านในการดำเนินโครงการฯ ทำให้เกิดความขัดแย้งและทำให้เกิดความเดือดร้อน
แก่ประชาชน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน "วินิจฉัยให้ยุติเรื่อง" ร้องเรียนนี้ เนื่องจากพิจารณาข้อเท็จจริงและ
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ศอ.บต. ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 จากข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าศอ.บต. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่ก่อให้เกิด
ความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียน
พร้อมนี้ มีข้อเสนอแนะ ให้ผู้ร้องเรียนในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงและทางอ้อม หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อมูลทางวิชาการที่เป็นหรือจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการดังกล่าว สามารถเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบหรือทาง ศอ.บต. ในฐานะผู้ดำเนินการต่อไปได้
2.3 การดำเนินการที่ผ่านมา ศอ.บต. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมติที่ประชุมของคณะกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเคร่งครัด โดยมีความก้าวหน้าของกาทำงานในทุกเรื่อง ได้แก่
2.3.1 การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ ตามที่ ศอ.บต. ได้ขอเข้าพบรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 เพื่อปรึกษาหารือและมีข้อสรุปเห็นควรให้ ศอ.บต. ดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และเป็นหน่วยดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่พิจารณาถึงศักยภาพ โอกาส และข้อจำกัดของพื้นที่อย่างรอบด้านในทุกมิติของการพัฒนา รวมทั้ง การนำความคิดเห็นและข้อเสนอของส่วนราชการ หน่วยงานที่มีประสบการณ์ มาให้คำปรึกษาแนะนำ ประกอบการจัดทำร่างขอบเขตงาน (Term of Reference: TOR) ทั้งนี้ เห็นควรให้ว่าจ้างสถาบันการศึกษาหรือองค์กรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเพื่อให้ผลการศึกษาเป็นที่ยอมรับ ขณะนี้ ศอ.บต. ดำเนินการในกระบวนการเชิญชวนผู้รับจ้างไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อยื่นเสนอราคา สำหรับดำเนินการจ้างที่ปรึกษาต่อไปโดยกระบวนการจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 8 เดือน (จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2565)
ศอ.บต.ยันรับฟังความเห็นรอบด้าน
2.3.2 การศึกษาความเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยได้พิจารณาปรับงบประมาณเหลือจ่าย ปีงบประมาณพ.ศ. 2563 เพื่อดำเนินการ โดยผลการคัดเลือกของคณะดำเนินงานจ้างที่ปรึกษา โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 2 ราย ประกอบด้วย (1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2) กลุ่มที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งกลุ่มที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างที่ปรึกษา ได้พิจารณาตรวจรับรายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report เรียบร้อยแล้ว
2.3.3 การปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อรองรับเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา การดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาอยู่ในขั้นตอนที่ 3 (การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน) ซึ่งยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หากสถานการณ์คลี่คลายหรือสามารถดำเนินการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้ จะมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 12สัปดาห์หรือ 3 เดือน คาดว่าจะดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ตามมาตรา 9) ในห้วงเดือนพฤศจิกายน 2564โดยขั้นตอนการดำเนินการหลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วจะมีขั้นตอนการดำเนินการอีก 5 ขั้นตอน จะแล้วเสร็จภายใน 9 เดือน (รวมทุกขั้นตอนประมาณ 1 ปี)
นอกจากนี้ ศอ.บต. ได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีแนวทางการทำงานร่วมกันในขับเคลื่อนการพัฒนาองค์ความรู้และกลไกของการจัดการองค์ความรู้เชิงพื้นที่ในจังหวัดชายแดน
ภาคใต้ โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ศอ.บต.ประสานขอความร่วมมือพิจารณาให้การสนับสนุนทุนการวิจัยจาก วช. ให้แก่สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช เพื่อดำเนินการนำความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มหรือองค์กรที่อยู่ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่มีต่อการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบฯ ภายใต้โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการจัดทำร่างข้อเสนอธรรมนูญระดับตำบลในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา : นาทับ ตลิ่งชันและสะกอมโดยมีรายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) ระยะที่ 1 (ปี 2563-2564) เรียบร้อยแล้ว
พร้อมนี้ ศอ.บต. ได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณในระยะที่ 2 (ปี 2564-2565) เพื่อให้โครงการวิจัยดังกล่าวมีความสมบูรณ์สามารถนำมาเป็นชุดของกติการ่วมที่ทุกฝ่ายซึ่งเป็นคนในพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับผลกระทบโดยตรงยอมรับร่วมกันเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาโครงการที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติไว้ต่อไป
3. ข้อเสนอ
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดกรุณาทราบ หากท่านมีความคิดเห็นเป็นประการใด ขอได้กรุณาพิจารณาสั่งการ เพื่อ ศอ.บต. จะได้ดำเนินการตามข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ โดยการทำงานในทุกขั้นตอน ศอ.บต. จะได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ มีความโปร่งใส สุจริตรวมทั้ง ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมติคณะรัฐมนตรี อย่างเคร่งครัด