ศาลปกครองเบรก"สธ."ไม่คุ้มครองคนแพ้วัคซีนทางเลือกที่ฉีดจากรพ.เอกชน

17 ธ.ค. 2564 | 09:52 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2564 | 17:11 น.

ศาลปกครองกลางเบรกประกาศสธ.ที่ไม่คุ้มครองคนแพ้วัคซีนทางเลือกที่ฉีดจากรพ.เอกชน เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ชี้ไม่เป็นธรรม-เลือกปฏิบัติ เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (17ธ.ค.64) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด 19 ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 23 ก.ค.64 ข้อ 3 เฉพาะในส่วนที่ไม่คุ้มครองบุคคลที่ได้รับการป้องกันโรคโควิด19 จากการฉีดวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการโดยสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับการฉีดวัคซีนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น 

 

ทั้งนี้คำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องจาก นายรัชพล ปั้นทองพันธุ์ นักกฎหมายอิสระ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้บริโภคที่มีสิทธิ์ได้รับการบริการสาธารณสุข การป้องกันและการขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ศาลฯ มีคำสั่งเพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าวเฉพาะในส่วนข้อ 3 ที่กำหนดว่า

"ทั้งนี้ไม่รวมถึงวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการโดยสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลซึ่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับการฉีดวัคซีนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาล" 

 

เนื่องจากเห็นว่า ประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่ไม่มีความพร้อมทางสถานะเศรษฐกิจและสังคมไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนทางเลือกพี่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ส่งผลให้รัฐไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ 

โดย นายรัชพล ได้ลงทะเบียนซื้อวัคซีนโมเดอร์นา ให้แก่ตนเองและครอบครัวจากโรงพยาบาลเอกชนเป็นเงินจำนวน 13,200 บาท และเห็นว่าคดีนี้เป็นประโยชน์กับส่วนรวมจึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาล 

 

ส่วนที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระบุเหตุผลว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย และทั่วโลก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและขจัดโรคดังกล่าว โดยการฉีดวัคซีนโควิด-19 อันเป็นวัคซีนที่คิดค้นและผลิตขึ้นในเบื้องตัน 

 

ซึ่งหากบุคคลผู้รับการฉีดวัคซีนเกิดอาการแพ้วัคซีน หรือ อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนดังกล่าว บุคคลนั้นย่อมมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน จากสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เมื่อวัคซีนโควิด-19 ที่นำมาฉีดให้กับบุคคลกลุ่มเป้าหมายตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมการป้องกันและขจัดโรคโควิด-19 จากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

 

กับวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการโดยสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ซึ่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับการฉีดวัคซีน ต่างก็เป็นวัคซีนที่ได้ผ่านการรับรองการขึ้นทะเบียนตำรับยาของวัคซีนนั้น จากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหากบุคคลที่รับการฉีดวัคซีนทางเลือกเกิดอาการแพ้วัคซีน หรือ อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ย่อมมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลเช่นกัน 

 

การที่กระทรวงสาธารณสุข  ออกประกาศดังกล่าวโดยไม่ได้กำหนดให้ครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับการป้องกันโควิด-19 จากการฉีดวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการโดยสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับการฉีดวัคซีนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย ทำให้ผู้ได้รับการป้องกันโรคโควิด-19 จากการฉีดวัคซีนทางเลือกจะไม่ได้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยฉุกเฉิน จากสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลเหมือนบุคคล ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

จึงอาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อสภาพทางกาย หรือ สุขภาพของบุคคลที่มีสิทธิ์ได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ ตามมาตรา 27 วรรคสามประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 

 

ดังนั้น ประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวในส่วนของข้อ 3 เฉพาะในส่วนที่ไม่คุ้มครองถึงบุคคลที่ได้รับการป้องกันโรคโควิด19 จากการฉีดวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการโดยสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับการฉีดวัคซีนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากมีผลใช้บังคับต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดีจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง 

 

หากบุคคลผู้รับการฉีดวัคซีนทางเลือกมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลพยาบาลจะไม่สามารถเข้ารับการรักษาในฐานะที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามกฎหมายดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงชีวิตร่างกายของบุคคลที่ได้รับวัคซีนทางเลือกนั้น 

 

อีกทั้งการมีคำสั่งทุเลาของศาลเฉพาะในส่วนที่ไม่คุ้มครองถึงบุคคลที่ได้รับการป้องกันโรคโควิด-19 จากการฉีดวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการโดยสถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับการฉีดวัคซีนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ย่อมไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะ 

 

เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขยังคงมีหน้าที่ในการจัดการด้านการสาธารณสุข ให้แก่ประชาชนทุกคนโดยดำเนินการตามมาตรการของรัฐในการป้องกันและขจัดโรคโควิด-19 และกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินตามประกาศฉบับพิพาทต่อไปได้จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว