ในรอบปี 2564 เหตุการณ์ทางการเมืองเหตุการณ์หนึ่งที่ต้องยกให้เป็น “สุดยอดการเมืองแห่งปี” ก็คือการ “ปราบกบฏ” ในรัฐบาลบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
อันเกิดจากคนใน “พลังประชารัฐ” ซึ่งเป็นพรรคที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี คิดคดจะโค่นล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
“ธรรมนัส”คิดโค่นนายกฯ
ย้อนเหตุการณ์ไป เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และ 5 รัฐมนตรี ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญรีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
ศึกซักฟอกครั้งนี้ มีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ส.ค.-3 ก.ย. 2564 พรรคร่วมฝ่ายค้านล็อกเป้าซักฟอกไปที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ด้วยข้อกล่าวหาที่รุนแรง ความยาว 3 หน้ากระดาษ อาทิ เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรม และไร้ความสามารถที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผู้นำประเทศ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องเสียหายอย่างร้ายแรงทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในภาวะปกติและในภาวะวิกฤติ ฯลฯ
ในระหว่างที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเปิดฉากอภิปรายการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เกิดความเคลื่อนไหวจากกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินสายล็อบบี้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ด้วยผลประโยชน์ เพื่อให้ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 4 ก.ย.2564
เป้าหมายหวังโค่น “บิ๊กตู่” ลงจากเก้าอี้นายกฯ และกดดันให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังเสร็จศึกซักฟอก และอาจไปไกลถึงขั้น "เปลี่ยนตัวนายกฯ"
ถึงขนาดปรากฏภาพกลางสภาที่ ร.อ.ธรรมนัส เข้าไปคุยกับส.ส.กลุ่มพรรคเล็ก เช่น พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และ พรรคพลังท้องถิ่นไทย ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
พร้อม ๆ กับมีข่าวลือว่า เกิด “ดีล” ระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส กับ คนแดนไกล ทักษิณ ชินวัตร จับมือกันเพื่อโค่นล้ม พล.อ.ประยุทธ์ แต่ ทักษิณ ก็ได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว
“ที่มีปัญหาเรื่อง ร.อ.ธรรมนัส เพราะมีคนปล่อยข่าวว่าผมเอาเงิน 2,000 ล้านไปให้ธรรมนัส แล้วทำไม่สำเร็จ กลายเป็นดีลล่ม คือ ผมจะบอกว่า ผมเริ่มจากศูนย์ ผมหาเงินเอง ดังนั้นผมไม่โง่เรื่องใช้เงิน” ทักษิณ ระบุ
“ 2 ป.” รู้ทัน
อย่างไรก็ตาม แผนการของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ทางฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ และ ป.ป๊อก- พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็รู้ทัน จึงได้เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อ “หยุดปฏิบัติการ” ของ ร.อ.ธรรมนัส ด้วยการล็อบบี้ส.ส.เพื่อให้โหวตไว้วางใจนายกฯ โดยพึ่งบริการของแกนนำกลุ่มสามมิตร นายสันติ พร้อมพัฒน์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ
เห็นได้จากในการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่สาม นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ว่า จ่ายเงินให้ ส.ส.รายละ 5 ล้านบาท ในห้องทำงานชั้น 3 ของอาคารรัฐสภา ทำให้ “นายกฯ” ลุกขึ้นชี้แจงกลางสภาว่า ส.ส.แค่มาทักทาย และ "ผมไม่ทำบ้า ๆ บอ ๆ แบบนั้น ไม่ทำถุงขนมอยู่แล้ว"
หลังมีกระแสข่าว “แจกกล้วย” ให้พรรคเล็ก นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ออกมาสยบข่าว โดยยืนยันว่า ไม่มีการแจกเงิน 5 ล้านบาท ตามที่ นายวิสาร กล่าวหา ที่มีส.ส.เข้าพบนายกฯ ก็เป็นเพียงการเข้าไปให้กำลังใจ และกระแสข่าวการเลื่อยขาเก้าอี้นายกฯ เป็นเพียงเฟกนิวส์เท่านั้น
ไว้วางใจ“นายกฯ”รองบ๊วย
กระทั่งการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันที่ 4 ก.ย.2564 ทางวิปรัฐบาลกำชับให้ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ลงมติไปในทิศทางเดียวกัน และคะแนนไว้วางใจนายกฯ จะต้องมาเป็นอันดับ 1
แต่ผลการโหวต นายกฯ และ 5 รัฐมนตรี แม้จะได้รับความไว้วางใจจากส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง แต่ไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ กลับกลายเป็นว่าได้รับความไว้วางใจอันดับรองบ๊วย ด้วยคะแนนเสียง 264 ต่อ 208 งดออกเสียง 3 เสียง
ขณะที่รัฐมนตรีอีก 5 คน ก็ได้รับความวางใจ โดยมีคะแนนลดหลั่นกันไป ดังนี้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 269 ต่อ 196 งดออกเสียง 11 เสียง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 263 ต่อ 201 งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 269 ต่อ 195 งดออกเสียง 10 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 270 ต่อ 199 งดออกเสียง 8 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
และนายชัยวุฒิ (ดีอีเอส) ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 267 ต่อ 202 งดออกเสียง 9 ไม่ลงคะแนน ไม่มี
หลังการโหวตเสร็จสิ้นลง เกิดความไม่พอใจจากฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ที่เพ่งเล็งไปที่ ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในปฎิบัติการโค่น “บิ๊กตู่”
เหตุการณ์นี้นำมาสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่าง นายกฯ กับ ร.อ.ธรรมนัส ทั้ง 2 มีท่าทีบาดหมางกันตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ก.ย.64
ปลดฟ้าผ่าธรรมนัส-นฤมล
วันที่ 9 ก.ย.64 ร.อ.ธรรมนัส แถลงด่วนที่รัฐสภา ประกาศลาออกจากเก้าอี้รัฐมนตรี ด้วยเหตุผลการบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ขอกลับไปทำงานที่จังหวัดพะเยา โดยอ้างว่าได้ตัดสินใจตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.64
“ผมเดินไปในทิศทางเดียวกันไม่ได้ ที่จริงแล้วก่อนที่จะลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการหารือกับ พล.อ. ประวิตร ว่าจะลาออกแต่หัวหน้าห้ามเอาไว้”
ทันทีที่ ร.อ.ธรรมนัส แถลงลาออกที่รัฐสภา ราชกิจจานุเบกษาก็ได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการประกาศให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี พร้อมกันทั้ง 2 คน
แม้ ร.อ.ธรรมนัส จะย้ำว่า ไม่ใช่คนที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการเดินสายล็อบบี้ ส.ส.ทั้งในส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคใหญ่ไปจนถึง “พรรคเล็ก” ให้ โหวตคว่ำ “บิ๊กตู่” แต่คำสั่งฟ้าผ่าจากนายกฯ ก็ได้สะท้อนยุทธการ “ปราบกบฏ” ในรัฐบาล เกิดขึ้นแล้ว
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดความรู้สึกกินแหนงแคลงใจกัน มาจนถึงทุกวันนี้ และผลแห่งการปราบกบฏไม่สะเด็ดน้ำ ได้ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ , ความสัมพันธ์ของ 3 ป.สั่นคลอน, รัฐบาลไม่กล้าเสนอกฎหมายเข้าสภา เนื่องจากเกิดเหตุ “สภาล่ม” บ่อยครั้ง และที่สำคัญคือ อนาคตของ “บิ๊กตู่” และ พรรคพลังประชารัฐ ไม่แน่นอนเอาเสียแล้ว
ต้องคอยติดตามดูว่า จะมีการ “ปราบกบฏ ภาค 2” เกิดขึ้นอีกหรือไม่?