วันที่ 5 มกราคม 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2565 หรือ ศปถ. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.64 – 4 ม.ค.65) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,707 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 333 ผู้บาดเจ็บรวม 2,672 คน
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ (96 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (22 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี (จังหวัดละ 93 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วันของการรณรงค์มี 9 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครนายก ปัตตานี พังงา ยะลา สตูล สมุทรสงคราม สุโขทัย และแพร
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 34.45 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 25.36 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 21.05 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.04 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 82.78 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.67 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.28 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 18.01 – 19.00 น. ร้อยละ 10.53 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40 – 59 ปี ร้อยละ 17.49
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนทั้งจำนวนอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ลดลงเมื่อเปรียบเทียบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับปี 2564 โดยจำนวนการเกิดอุบัติเหตุลดลง 626 ครั้ง (ลดลง 18.78%) ผู้บาดเจ็บลดลง 654 คน (ลดลง 19.66%) และผู้เสียชีวิตลดลง 59 (ลดลง 15% ) ซึ่งสวนทางกับปริมาณรถขาเข้าและขาออกจากกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 7,540,156 คัน (ออกจาก กทม. จำนวน 3,718,563 คัน และเข้า กทม. จำนวน 3,821,593 คัน) ที่เพิ่มขึ้น 19 % เมื่อเทียบกับปริมาณจราจรของเทศกาลปีใหม่ 2564 ที่มีสถิติอยู่ที่ 6,328,973 คัน
โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและเมาสุรา แม้ปีนี้ปริมาณการจราจรบนถนนจะสูงกว่าปี 2564 แต่ผลจากรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจังของทุกจังหวัดและหน่วยงาน สามารถทำให้เกิดความปบอดภัยทางถนนได้มากกว่าปี 2564
โดยดูจากตัวชี้วัดจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ จำนวนผู้เสียชีวิต ลดลงทุกตัว ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายภาพรวมของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศให้เหลือ 12 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนภายในปี พ.ศ. 2570
“ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทาง ด้วยความทุ่มเท เสียสละ อดทน และเข้มแข็ง เพื่อร่วมกันสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนต่อไป”นายนิพนธ์ กล่าว