เกาะติดอุณหภูมิร้อนทางการเมืองกันต่อเนื่อง หลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร หรือ โทนี่ วู้ดซัม อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า จะกลับมาประเทศไทยหลังจากอภิปรายไม่ไว้วางใจกลางปี 2565 คงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะนายทักษิณในฐานะอดีตนักการเมืองย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า มีหลายคดีที่รอเขาอยู่
สำหรับคดีที่นายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่าทุจริต และถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก รวมถึงคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีดังนี้
1.คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น) และนายทักษิณ ในการซื้อที่ดินจำนวน 33 ไร่ 78 ตรว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551
ก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดีดังกล่าว นายทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างว่า ไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง สั่งจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน สำหรับคดีนี้ปัจจุบันหมดอายุความแล้ว
2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ ที่รู้จักเรียกกันทั่วไปว่า คดีหวยบนดิน
ศาลฎีกาฯ พิพากษา จำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งศาลพิจารณาเห็นว่า การสั่งการของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เงินที่จ่ายเกินไปกว่ารายได้ของการจำหน่ายสลากจึงถือว่า ก่อให้เกิดผลขาดทุนแก่รัฐ
3.คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลสหภาพพม่า คดีนี้ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม)
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า นายทักษิณสั่งการให้ Exim Bank อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น
4.คดีให้บุคคลอื่นถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม
ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า นายทักษิณดำเนินการดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท. ชื่อในขณะนั้น) และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือ บริษัท ดีพีซี ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.ชื่อในขณะนั้น)
โดยทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้ทั้ง 2 บริษัทได้รับคืนเงินภาษีสรรสามิตที่ชำระแล้ว โดยมีสิทธินำไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องนำส่งให้ ทศท. และ กสท. เป็นผลให้ ทศท. และ กสท. ได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 คดีซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. คือ คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ล็อตสอง จำนวน 8 สัญญา ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมซึ่งมีชื่อของนายทักษิณ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย น้องสาวของนายทักษิณรวมอยู่ด้วย
กรณีนี้องค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับ "ผู้ถูกกล่าวหาสำคัญ" ในคดีนี้ไปแล้วทั้งหมด และรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว คาดว่า ต้นปี 2565 จะมีบทสรุปออกมาได้
คดีกล่าวหาการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
โดยปรากฏชื่อของนายทักษิณ อดีตนายกฯ นายสุริยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ถูกกล่าวหาร่วมกับ นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีการตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีนี้แล้ว
ขณะที่มี 2 คดีที่ศาลยกฟ้อง คือ คดีสั่งบริการแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องนายทักษิณ เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีเจตนาพิเศษ
และคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดามหานคร ซึ่งศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า นายทักษิณเป็น ซุปเปอร์บอส หรือ บิ๊กบอส ที่สั่งการให้ปล่อยสินเชื่อดังกล่าว