เลือกตั้งซ่อมสงขลา-ชุมพร นักวิชาการ ชี้ ไม่เหนือความคาดหมาย

17 ม.ค. 2565 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2565 | 17:39 น.

เลือกตั้งซ่อมสงขลา-ชุมพร ไม่เหนือความคาดหมาย 2 นักวิชาการมองข้ามช็อต ลุ้น! ศึกเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ "เพื่อไทย-พปชร." แข่งดุ ฟันธง "สุรชาติ เทียนทอง" มาวิน พรรคกล้า-ก้าวไกล เหนื่อย  

การเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 6 จังหวัดสงขลา และ เลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 1 จังหวัดชุมพร ที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาด ๆ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้มีนัยสำคัญทางการเมือง หรือบ่งบอกอะไรกับเราเกี่ยวกับทิศทางการเมืองไทยได้บ้าง ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดสถานการณ์พร้อมนำบทสัมภาษณ์วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้นจาก 2 นักวิชาการชื่อดังมาฝาก   

เริ่มที่ ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิการ สะท้อนความเห็นเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งซ่อมทั้งสองเขตใน 2 จังหวัดว่า ผลที่ออกมาไม่เหนือความหมายแต่อย่างใด เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ภาคใต้เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีความแข็งแกร่งมากอยู่แล้วจึงยากที่พรรคอื่นจะเข้ามาสอดแทรกได้

และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นสาเหตุที่จะให้รัฐบาลแตกหักกันแต่อย่างใด เป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่มีการแข่งขันกันเมื่อมีการเลือกตั้ง สุดท้ายแล้วก็จูบปากทำงานร่วมกันเหมือนเดิม ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐกับศึกครั้งนี้ทำได้ดี เพียงแต่อาจจะยิงไม่ถูกเป้าเท่านั้น

เช่นเดียวกับ ความเห็นของ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่กล่าวสอดคล้องตรงกันว่า ผลที่ออกมาไม่เหนือความคาดหมายเพราะทั้งสองเขตฐานเสียงเดิมเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ใช่ว่าจะปิดประตูสำหรับพรรคพลังประชารัฐที่จะสอดแทรกเข้ามาได้ เรียกได้ว่า จากคะแนนทิ้งห่างกันไม่มากสามารถสลับสอดแทรกกันขึ้นมาได้ตลอด และหากวิเคราะห์จากผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ เขต 1 จังหวัดชุมพร นั้น พรรคประชาธิปัตย์มีฐานคะแนนที่เหนียวแน่นจากตระกูลจุลใสทั้งการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

ที่น่าสนใจ คือ ผลการเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดสงขลาที่มีคะแนนทิ้งห่างกันเพียงหลักพันโดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ฐานสำคัญ คือ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้ ที่ส่งภรรยา คือ สุภาพร กำเนิดผล อดีตรองนายก อบจ.สงขลา ลงสนาม

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ส่ง นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ที่มีฐานการเมืองจากหัวคะแนนเก่าอยู่เช่นกัน เมื่อดูจากตัวเลขคะแนนทิ้งห่างกันไม่มาก คิดว่า ผลคะแนนที่พลิกทิ้งห่างนี้น่าจะมาจากกรณีของคุณธรรมนัส ที่เป็นตัวแปรสำคัญ เรียกได้ว่า มีโอกาส แพ้กันเพียงเล็กน้อย เชื่อว่า ในอนาคตสำหรับทั้งสองเขต สองจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ โอกาสของพรรคพลังประชารัฐก็ยังมีอยู่

ส่วนกระแสข่าวที่ว่า รัฐบาลกำลังแตกเพราะศึกเลือกตั้งครั้งนี้นั้น ทั้งสองท่านกล่าวตรงกันว่า ประโยคทางการเมืองที่ว่า ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวรก็ยังใช้ได้อยู่ พรรคการเมือง คือ การแข่งขัน เมื่อจบการเลือกตั้งก็ยังทำงานร่วมกันเหมือนเดิม เป็นเรื่องปกติธรรมดาของรัฐบาลผสมที่ไม่สามารถคาดหมายเสถียรภาพและเป็นเนื้อเดียวกันได้ ในสนามเลือกตั้งของพรรคการเมืองคือการต่อสู้แข่งขันกัน และความหลากหลายของพรรคการเมืองก็เป็นสิ่งที่ดีกับประชาชน  

ก่อนจบบทสัมภาษณ์ นักวิชาการทั้งสองท่านวิเคราะห์มองข้ามช็อตไปถึงการเลือกตั้งเขตหลักสี่ กทม.ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยฟันธงตรงกันว่า พรรคเพื่อไทย ที่ส่ง นายสุรชาติ เทียนทอง เข้าลงแข่งขันนั้นจะมาวิน เพราะมีฐานเสียงเดิมอยู่ เมื่อเทียบกับพรรคพลังประชารัฐ ที่ส่งนางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยาของนายสิระต้องทำงานหนักกว่าแต่ก็ประมาทไม่ได้

"การเลือกตั้งครั้งนี้โอกาสน่าจะเป็นของ นายสุรชาติ เทืยนทอง บุตรชายนายเสนาะ เทียนทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย แต่ก็ประมาท นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยาของนายสิระ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ เพราะผลคะแนนการเลือกตั้งเขตหลักสี่ที่ผ่านมาแพ้กันแค่หลักพัน ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐก็อาจสลับขึ้นมาได้เช่นกัน

ขณะที่พรรคก้าวไกล ที่ส่ง นายกรุณพล เทียนสุวรรณ ต้องทำงานหนักกว่านี้ ส่วนของพรรคกล้าที่ส่งนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยได้รับเลือกเป็น ส.ส.กทม.เขต 9 จตุจักร มาก่อนนั้น เรื้อเวทีไปนาน ประกอบกับกระแสของพรรคและตัวหัวหน้าพรรคเอง คือ นายกรณ์ จาติกวณิช ยังไม่โดดเด่นมากพอ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ง่ายสำหรับพรรคกล้า และพรรคก้าวไกล คาดว่า จะได้คะแนนมาเป็นลำดับสาม หรือ สี่