วันที่ 1 ก.พ.2565 ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ภายในรัฐสภาว่า ได้สรุปตัวเลขที่ชัดเจนในช่วงเดือนมกราคม พบว่า ทั้งเดือนมกราคม มีบุคลากรในสภาผู้แทนราษฎรติดเชื้อ 30 คน โดยใน 30 คนนี้ แบ่งเป็น ส.ส. 12 คน ข้าราชการและพนักงานราชการ 12 คน แม่บ้าน 2 คน ลูกจ้าง 4 คน
ขณะที่วันนี้ (1 ก.พ.) พบติดเชื้อแล้ว 1 คนเป็นข้าราชการ ดังนั้น ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564-31 มกราคม 2565 มีจำนวนผู้ติดเชื้อฝั่งสภาผู้แทนราษฎร 128 คน ยังรักษาตัว 19 คน รักษาหายแล้ว 108 คน เสียชีวิต 1 คน ซึ่งในจำนวนนี้ แบ่งเป็น ส.ส. 22 คน พนักงานและข้าราชการ 71 คนแม่บ้าน 20 คน ลูกจ้าง 15 คน
อย่างไรก็ตาม ประธานสภาฯ ยืนยันมาตลอดว่า รัฐสภาต้องทำงานและอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ให้ได้ ดังนั้น จะเห็นว่า สภาฯพยายามติดตามสถานการณ์ของโรคและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด หากครั้งใดที่ต้องงดประชุมสภาฯ ก็ไม่ดื้อ พร้อมที่จะงดประชุมสภาฯ แต่ยืนยันว่า ที่ผ่านมาไม่มีการติดเชื้อในห้องประชุมสภาฯ ส่วนมากจะเกิดจากการติดเชื้อภายนอก ซึ่ง ส.ส.ก็ยอมรับว่า มีการรับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้น การประชุมสภาฯก็จะดำเนินการต่อไป
นพ.สุกิจ ยังกล่าวถึงไทม์ไลน์การประชุมสภาฯของเดือน ก.พ.ว่า วันที่ 8 ก.พ. จะเป็นการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศที่ค้างการพิจารณา วันที่ 9 – 11 ก.พ. เป็นการประชุมสภาตามวาระที่กำหนด สัปดาห์ต่อจากนั้นจะมีวันหยุดมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ก.พ. จากนั้น วันที่ 17 – 18 ก.พ. จะเป็นการประชุมสภา
ส่วนช่วงปลายเดือน คือวันที่ 23 – 25 ก.พ. กำหนดให้เป็นวันประชุมแน่นอน แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นการประชุมร่วมรัฐสภาหรือประชุมสภาปกติ ต้องดูสถานการณ์ก่อนโดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งต้องรอร่างของรัฐบาลด้วย จึงยังตอบไม่ได้ เช่นเดียวกับการจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญหรือไม่ก็ยังตอบไม่ได้ แต่ยืนยันว่า สภาจะดำเนินการประชุมให้ปลอดภัยที่สุด ซึ่งต้องขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
ส่วนการกำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตาม ม.152 นั้น จะมีการประชุมร่วมกันของวิป 3 ฝ่ายที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาเรื่องกำหนดวันและเวลาต่อไป