วันนี้ (2 ก.พ.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการกกต.มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 1 ก.พ.65 ถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร แจ้งประกาศจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์และการเตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.
หลังสำนักทะเบียนกลางกระทรวงมหาดไทย ส่งประกาศสำนักทะเบียนกลางเรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไป เมื่อวันที่ 18 ม.ค.65 มาให้
และสำนักงาน กกต. ได้คำนวณจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2564 กำหนด เพื่อให้สำนักงานกกต. ประจำจังหวัด และกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่จำนวนส.ส.แต่ละจังหวัดจะพึงมีเกิน 1 คนเตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 รูปแบบ และเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับจะได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์ในการคำนวณจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2564 มาตรา 86โดยจากจำนวนราษฎรทั้งประเทศที่สำนักทะเบียนกลางประกาศรวม66,171,439 คน และกฎหมายกำหนดให้มีส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน กกต.คำนวณจำนวนราษฎรเฉลี่ยต่อส.ส. 1 คน อยู่ที่ 165,428.5975 คน
สำหรับจังหวัดที่มีส.ส.มากสุดยังคงเป็น กรุงเทพมหานคร 33 คน
ตามมาด้วย นครราชสีมา มีส.ส. 16 คน
ส่วนที่มีส.ส. 11คน มี 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ และ อุบลราชธานี
จังหวัดที่มีส.ส. 10 คนมี 2 จังหวัด คือ ชลบุรี และบุรีรัมย์
จังหวัดที่มีส.ส.9 คนมี 4 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช ศรีสะเกษ สงขลาและ อุดรธานี
จังหวัดที่มีส.ส. 8 คนมี 5 จังหวัด คือ เชียงรายนนทบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ และสุรินทร์
จังหวัดที่มีส.ส 7 คน มี 4 จังหวัด คือ ชัยภูมิ ปทุมธานี สกลนคร และ สุราษฎร์ธานี
ที่มีส.ส. 6 คนมี 5 จังหวัดคือ กาฬสินธุ์นครปฐม นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และมหาสารคาม
ที่มีส.ส. 5 คนมี 7 จังหวัด คือ กาญจนบุรี นราธิวาส พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ระยอง ราชบุรี และ สุพรรณบุรี
ที่มีส.ส. 4 คน มี 12 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ตรัง ตาก นครพนม ปัตตานี ลพบุรี ลำปาง เลย สมุทรสาคร สระบุรี และสุโขทัย
ที่มีส.ส .3 คนมี 19 จังหวัด คือ กระบี่จันทบุรี ชุมพร น่าน บึงกาฬ ประจวบปราจีนบุรี พะเยา พัทลุง พิจิตร เพชรบุรี แพร่ ภูเก็ต ยโสธร ยะลา สระแก้ว หนองคาย หนองบัวลำภู และอุตรดิตถ์
ที่มีส.ส. 2 คน มี 10 จังหวัด คือ ชัยนาท นครนายก พังงา มุกดาหารแม่ฮ่องสอน ลำพูน สตูล อ่างทองอำนาจเจริญ และ อุทยธานี
และที่มีส.ส.1 คนมี 4 จังหวัด คือ ตราด ระนอง สมุทรสงคราม และ สิงห์บุรี
ทั้งนี้หากคิดจำนวนส.ส.เป็นรายภาคโดยตามประกาศกกต.เรื่องบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัด 2560 ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและ 26 จังหวัด จะมีส.ส. 139 คน ภาคใต้ 14 จังหวัดจะมีส.ส.58 คน ภาคเหนือ 16 จังหวัดจะมีส.ส. 71 คน และภาคอีสาน 20 จังหวัดจะมีส.ส 132 คน
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2560 มาตรา 86 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคํานวณจํานวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งหากสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะอยู่ครบวาระ4 ปีนับแต่เลือกตั้ง 24 มี.ค.62 ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศก่อนหน้านี้
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลัง 24 มี.ค.66 ก็จะต้องใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ปี 2565 ที่โดยปกติแล้วสำนักทะเบียนกลางกระทรวงมหาดไทยจะประกาศในช่วงต้นเดือนม.ค.ของปีถัดมา เป็นฐานในการคิดคำนวณจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี
แต่การที่กกต.ใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ปี 2564 เป็นฐานในการคิดคำนวณจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และสั่งให้จังหวัดเตรียมเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งคู่ขนานไปกับการที่รัฐสภาจะพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง คือร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากแล้วเสร็จและประกาศให้มีผลใช้บังคับ ก็สามารถจัดเลือกตั้งได้ทันที กรณีดังกล่าวจึงอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าอาจมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปี 65 นี้ก็ได้