"บิ๊กตู่" ลั่น "ไม่ลาออก" ยันรัฐแก้เหมืองทองอัคราตามกฎหมาย

18 ก.พ. 2565 | 05:58 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2565 | 14:09 น.

"บิ๊กตู่" ลั่นฯ ไม่ลาออก ย้อนเก็บใบลาออกไว้ให้ตัวเองก็แล้วกัน ยันรัฐแก้เหมืองทองอัคราตามกฎหมาย ไม่ได้ยึดเหมืองทองมาเป็นของรัฐ ย้ำคำนึงผลประโยชน์ประเทศ

วันที่ 18  ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา  มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงประเด็นเหมืองทองอัคราฯ ว่า รัฐบาลในทุกยุคสมัยจะมีหน้าที่ในการพิจารณานำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสม สถานการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 – 2544 รัฐบาลในช่วงนั้นก็ได้เห็นชอบตามกฎหมาย ตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ.2510 เชิญชวนให้มีการลงทุนด้วยการลดค่าภาคหลวงแร่ ออกใบสำรวจ ออกใบอนุญาตประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม สนับสนุนให้มีการทำเหมืองทองในจ.พิจิตร ซึ่งนายกฯ ในขณะนั้น ได้เดินทางไปเปิดเหมืองผลิตทองคำเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศ และผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันยังเป็นบริษัทเดิมอยู่

 

จนกระทั่งปีพ.ศ.2554 รัฐบาลต่อมาได้ระงับต่อใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 1 แปลง ด้วยเหตุความไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งปัญหาการฟ้องร้อง ขั้นตอนการออกใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสุขภาพ และสารพิษตกค้างจากการทำเหมือง

นายกฯ กล่าวต่อว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาก่อนหน้าช่วงรัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารบ้านเมือง ในขณะนั้น ถือว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ รัฐบาลก็ได้พิจารณาการนำเอาทรัพยกรธรรมชาติออกมาใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งขณะนั้นก็ยังมีข้อโต้แย้งจำนวนมาก แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คสช. ที่ต้องทบทวนข้อกฎหมาย และกรอบนโนบายการทำเหมือง เพื่อจะลดปัญหาที่หมักหมมมานาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการใดๆ ที่เห็นว่ามีความจำเป็น ภายหลังการปรับปรุงพ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ.2560 มีการออกนโยบายการทำเหมืองแร่ใหม่ มีบริษัทเอกชนที่มีความสนใจจะทำเหมืองต่างๆ ได้เข้ามาขอใบอนุญาตใหม่ และขอต่อใบอนุญาตเดิมกว่า 100 ราย ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามปกติ หากบริษัทเอกชนใดๆ มีขีดจำกัด และขีดความสามารถทำตามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด และเข้ามาขออนุญาตตามขั้นตอน ก็มีสิทธิได้รับใบอนุญาต บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด หรือ “คิงส์เกต” ก็เป็นบริษัทหนึ่ง ที่ถึงแม้ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะมีคดีความฟ้องร้องต่อรัฐบาลไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่มีต่อบริษัทของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งเป็นต่อบริษัทแม่ของบริษัทคิงส์เกตฯ ที่จะเดินเรื่องขอต่อใบอนุญาต

 

ดังนั้น การที่มีพ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ.2560 ขึ้นมาใหม่นั้น ทางบริษัทอัคราฯ ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขอต่ออายุทั้ง 4 แปลงที่ยังคงค้างอยู่ ตามกรอบเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่ ซึ่งบริษัทอัคราฯ ก็ทำตามขั้นตอนเหมือนบริษัทเอกชนอื่นๆ จึงเป็นที่มาของการได้รับการต่อใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 4 แปลงนั้น โดยไม่ได้เป็นการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลใดๆ ทั้งสิ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กาารต่อใบอนุญาต 4 แปลงดังกล่าวเป็นแปลงเดิม ที่อนุญาตตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 -2543 ถ้าตนจะถูกตีความว่า การต่อใบอนุญาตนั้นเป็นการยกทรัพยากรธรรมชาติ หรือยกสมบัติของชาติให้เอกชนตามอำเภอใจ ข้อกล่าวหานี้คงเป็นการกล่าวหาตั้งแต่รัฐบาลยุคนั้น หรือข้อกล่าวหาที่ว่าขัดต่อนโยบายเหมืองตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ตนพยายามจะแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกอย่างเดินไปได้

 

ขอยืนยันว่า การดำเนินการต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลไม่ได้ต้องการทำเหมือง หรือยึดเหมืองมาเป็นของรัฐ รัฐบาลยินดีต้อนรับนักลงทุนที่ปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ และประชาชน ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม เรื่องนี้ตนขอย้ำอีกครั้งว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ

 

บรรยากาสการประชุมสภาฯ

“ผมของให้การอภิปรายนี้เป็นไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของประเทศเรา โดยคำถามหลายข้อเกิดจากความอนุมานของผู้อภิปรายเอง ที่พยายามจะบิดเบือนให้ประชาชนเห็นว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง ส่วนการใช้มาตรา 44 ผมไม่เข้าใจว่าผู้อภิปราย มีความพยายามและความปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อผลประโยชน์ของใครก็แล้วแต่ เหมือนต้องการให้ประเทศเราเสียหาย อยากให้ผมมีความผิดในการใช้มาตรา 44 หรือกฎหมายปกติตามคำแนะนำของกระทรวงยุติธรรม ถ้าผู้อภิปรายเห็นว่าการดำเนินการนั้นไม่ถูกต้องชอบธรรม ก็ควรอธิบายให้เกิดความเข้าใจ ไม่ควรมาผูกกับเรื่องเหมืองทอง เพื่อประโยชน์ของใครก็แล้วแต่

 

ผมขอถามว่า ปัญหาที่นำมาอภิปรายในวันนี้ บางเรื่องเคยได้รับการแก้ไขหรือไม่ บางอย่างอยู่ในกระบวนการ ถามว่าประเทศไทยจะไปตรงไหน แล้วมีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้หรือไม่ ตามที่ท่านระบุตามมาตรา 152 เสนอมาได้ทุกเรื่อง ถ้าพูดง่ายๆ ตีกันไปแบบนี้ ไม่เกิดอะไรกับประเทศชาติสักอย่าง ผมขอให้สภาฯ เป็นสถานที่รับฟัง ผมพร้อมรับข้อเสนอแนะ

 

แต่ถ้าท่านมุ่งหวังว่าจะตีรัฐบาล จะล้มรัฐบาล จะเอานายกฯ ออกให้ได้ ผมว่าไม่ถูก ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ มีการเอาใบลาออกมาให้เซ็น ก็ขอให้เก็บไว้ให้ตัวเองก็แล้วกัน เพราะผมยังไม่ลาออกทั้งนั้น” นายกฯ กล่าว