ระเบิดศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. – พัทยา

09 มี.ค. 2565 | 09:19 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2565 | 16:31 น.

ระเบิดศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. – พัทยา : คาดวันที่ 28 มี.ค.กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง และกำหนดให้วันที่ 22 พ.ค.56 เป็นวันหย่อนบัตร

ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ให้ความเห็นชอบจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่ว่างเว้นการเลือกตั้งมาถึง 9 ปี รวมถึงให้มีการเลือกตั้งเมืองพัทยาใหม่ด้วย

 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเรื่องนี้ภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2565 ว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย(มท.) เสนอ จากนี้จะแจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง แล้วแจ้งกลับมาที่ครม.อีกครั้ง 

“เมื่อกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ผู้ว่าฯ กทม. ต้องลาออกภายใน 3 วัน ณ เวลานี้เป็นเรื่องของ กกต. ที่ใครจะไปอ๊อฟไซด์ไม่ได้ ซึ่งกกต.จะแจ้งกลับมาที่ครม. เมื่อไหร่ก็ได้ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ 8 มี.ค. ซึ่งเชื่อว่าจะตอบกลับมาโดยใช้เวลาไม่นานอาจจะ 1-2 สัปดาห์นี้” นายวิษณุ ระบุ

 

เลือกตั้งกทม.พร้อมพัทยา

 

ส่วนการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยานั้น นายวิษณุ กล่าวว่า จะดำเนินการไปพร้อมกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ เป็นเรื่องของกกต. ส่วนนายกเมืองพัทยาเมื่อประกาศวันเลือกตั้งแล้ว นายกเมืองพัทยา ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที โดยไม่ต้องลาออก แตกต่างจากผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที เนื่องจากเป็นกฎหมายคนละฉบับ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ถามในประเด็นนี้เหมือนกัน

ทั้งนี้มีรายงานว่า ในการ ครม. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้พิจารณากำหนดวันเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา โดยมอบหมายให้ กกต. ไปกำหนดวันตามขั้นตอนต่อไป


พร้อมกันนี้ มีการคาดหมายว่า วันเลือกตั้งที่เหมาะสมน่าจะเป็นช่วงวันที่ 22 พ.ค. หรือ 29 พ.ค.นี้ ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ กกต.จะกำหนดให้วันที่ 22 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้ง


เปิดไทม์ไลน์เลือกตั้ง


ก่อนหน้านี้ คณะทำงาน กกต.ได้วางไทม์ไลน์สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และเมืองพัทยา ไว้ดังนี้ 
วันที่ 8 มี.ค.2565 กระทรวงมหาดไทย นำเรื่องเสนอต่อ ครม.เพื่อเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม., ส.ก., นายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา

 

วันที่ 9-11 มี.ค. 2565 สำนักเลขาธิการครม.แจ้งมติคณะรัฐมนตรีให้ กกต.ทราบ


ถัดไป วันที่ 28 มี.ค. 2565 กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง กทม. และเมืองพัทยา 


ระหว่างวันที่ 7-11 เม.ย. 2565 กกต.ดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้ง


วันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 2565 เลือกตั้ง 


และภายในวันที่ 28 ก.ค. 2565 หรือ 60 วันหลังจากวันเลือกตั้ง ประกาศผลการเลือกตั้ง


สำหรับกรุงเทพมหานคร จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 1 คน ส.ก. 50 คน ตามจำนวนเขตปกครองทั้ง 50 เขต ส่วนเมืองพัทยา มีการเลือกนายกเมืองพัทยา 1 คน และสมาชิกสภาเมืองพัทยา รวม 24 คน

                                                 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. - ไทม์ไลน์เลือกตั้ง กทม. พัทยา


เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน 


สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นั้น ปัจจุบันมีบุคคลที่แสดงความจำนงที่จะลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. แล้วดังนี้

 

1.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม 1 ในแคนดิเดตบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ลงสมัครในนามอิสระ เป็นว่าที่ผู้สมัครที่เปิดตัวขอรับใช้คนเมืองหลวง เป็นคนแรก เดินสายลงพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนและปัญหาของคนกทม.มาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ใช้สโลแกน “เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”


แม้จะลงสมัครในนามอิสระ แต่ความนิยมในตัวของ  “ชัชชาติ” ก็นำมาเป็นอันดับ 1 ทุกครั้งเมื่อมีการสำรวจโพล แต่การลงสมัครในนามอิสระอาจทำให้หลายคนกังวลถึงฐานเสียงที่อยู่ในพื้นที่ 


แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทีมงาน “เพื่อนชัชชาติ” ได้ลงพื้นที่ทำงานอยู่ตลอดทั้ง 50 เขต มีทีมงานกลุ่มอาสาสมัคร  คนรุ่นใหม่ นักวิชาการ ที่ชัชชาติบอกว่า  “แม้จะอิสระแต่เข้มแข็งมาก”  


บางคนมองไปว่าคนกทม.ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย “ชัชชาติ” จึงต้องมาลงในนามผู้สมัครอิสระ โดยชัชชาติ เคยระบุว่า  “เริ่มงานการเมืองที่พรรคเพื่อไทย ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพจำคือแบบนั้น แต่หลังออกจากพรรคเพื่อไทย ก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพรรคอีกเลย"


เปลี่ยนกรุงเทพเราทำได้


2.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แถลงเปิดตัวที่สามย่านมิตรทาวน์ ภายใต้สโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพ เราทำได้” เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2564 ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์


จากนักวิชาการสู่สนามการเมือง ก็เจอกับมรสุมรับน้องทางการเมืองเข้าไปหลายระลอก ตั้งแต่เป็นลูกศิษย์ของหลานไอสไตน์ มาจนถึงการยื่นเรื่องสอบทรัพย์สินที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าร่ำรวยผิดปกติ มีการเชื่อมโยงกับบริษัทที่ได้รับว่าจ้างจาก สจล. ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี และยังถูกคนในโซเซียลตั้งชื่อให้เป็น “ผู้ว่าทิพย์”


แม้จะเป็น “หน้าใหม่” ทางการเมือง ที่ประเดิมสนามแรกด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น สนามเมืองหลวง แต่ก็จะประมาทฐานเสียงของ “ประชาธิปัตย์” พรรคเก่าแก่ ที่มีฐานเสียงจำนวนอยู่ใน กทม. ไม่ได้ทีเดียว โดยเฉพาะทีมงาน ส.ก.ที่เข็มแข็งในหลายพื้นที่


กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว


3.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่มาจากการแต่งตั้งในยุคคสช. แม้ที่ผ่านมาจะมีความเคลื่อนไหวและข่าวลือหนาหูว่าจะเป็นหนึ่งในผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ยังไม่มีความชัดเจน และประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ


ล่าสุด ส่วนเจ้าออกมาระบุว่า “ยังมีเวลาในการตัดสินใจ โดยจะรอพ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศ 3 วันก่อน ถ้าลาออกก็หมายความว่าจะลงสมัคร แต่ถ้าไม่ลาออกจนกว่าจะมีผู้ว่าฯ คนใหม่ ก็แปลว่าไม่ลงสมัคร” 


เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2565  พล.ต.อ.อัศวิน ได้โพสต์ข้อความและภาพผลการทำงานในด้านต่างๆ  พร้อมติดแฮชเท็ก “กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว” ผ่านทางเฟซบุ๊ก และระบุว่า นอกจากกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองหลวงแล้ว ก็ยังเป็นเมืองแห่งความหวังของใครอีกหลายๆ คน ที่เข้ามาเพื่อหวังว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


“ผมก็เป็นหนึ่งคนที่เข้ามาทำงานและใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เป็นเวลานาน เกือบทั้งชีวิตที่อยู่กรุงเทพฯ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเมือง และ คน มาโดยตลอด และมีความฝัน อยากพัฒนากรุงเทพมหานครของเราให้ดีขึ้น”


+กรุงเทพเมืองปลอดภัย


4.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ที่ตัดสินใจทิ้งการเมืองระดับชาติ มาลงสนามการเมืองท้องถิ่น ลาออกจากส.ส.เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2565 โดยหลายคนที่เป็นกองเชียร์และติดตามพรรคก้าวไกล รู้สึกเสียดายส.ส.ฝีปากกล้า ที่ถือว่าเป็นดาวสภาเมื่อมีการอภิปรายในช่วงที่ผ่านมา 
วิโรจน์ เปิดใจที่เตรียมลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ว่า รู้สึกตื่นเต้นเหมือนคนมาสมัครงานใหม่ และอยากพิสูจน์ความสามารถในการบริหารงานเมือง 


“ผมมองว่า กทม.เสมือนสำนักงานใหญ่ที่ต้องดูแลผู้อยู่อาศัย ผู้ว่าฯ กทม.เปรียบเสมือนผู้จัดการสำนักงาน โดยเมื่อตัดสินใจแล้วก็จะเดินหน้าทำงานร่วมกับส.ก.ของพรรคทันที”


หลังจากที่ วิโรจน์ ประกาศเสนอตัวชิงผู้ว่าฯ กทม.ได้เปิดนโยบาย “กรุงเทพเมืองปลอดภัย” หลังจากที่หมอกระต่ายถูกรถชนเสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลาย


กทม.มีทางออกบอกรสนา


5. รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อดีตสมาชิกวุฒิสภากทม.  ได้ประกาศตัวอย่างเป็นทางการว่า จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ตั้งแต่ปลายปี 2562 


โดยมีเหตุผลว่า เพื่อจะได้ไม่ต้องตอบแทนพรรคการเมืองและกลุ่มทุน จะได้สามารถทำงานเพื่อชาว กทม.อย่างแท้จริง ใช้สโลแกนหาเสียงว่า  “กทม.มีทางออก บอกรสนา” พร้อมใช้ยุทธศาสตร์หาเสียงเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน


รสนา เคยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.กทม.ในปี 2551 ด้วยคะแนนสูงที่สุดในประเทศไทยมาแล้ว ด้วยคะแนน 743,397 คะแนน 


กทม.ของเราดีกว่านี้ได้


6. สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ที่โพสเฟซบุ๊ค เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่า ผมเชื่อมั่นว่า “กรุงเทพมหานครของเราดีกว่านี้ได้" 


“ดังนั้น ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะเกิดขึ้นอันใกล้นี้ ผมพร้อม และขออาสาเสนอตัวเป็นผู้สมัครในนาม "อิสระ" โดยจะใช้ประสบการณ์ที่เก็บสะสมมา และอยากจะทำ ขอแรงสนับสนุนจากชาวกทม.ให้โอกาสรับใช้ทุกท่าน” อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ


เมื่อ ครม.ได้เห็นชอบให้มีการเลือกตั้งทั้ง กทม. และ เมืองพัทยา แล้ว ก็ถือได้ว่า เข้าสู่ “โหมดการเลือกตั้ง” อย่างเป็นทางการ ต่อไปนี้ก็คงจะได้เห็นความเคลื่อนไหวในการหาเสียงของว่าที่ผู้สมัครแต่ละคนมากขึ้น

 

เชื่อได้เลยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเข้มข้มแน่นอน...