นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า วันนี้ (15 มี.ค.65) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณ 1,800 ล้านบาท ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอขอไป โดยเป็นงบที่จะต้องมาดูแลโดยเฉพาะครูทั้ง 16 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก ได้แก่ ครูผู้สอน กลุ่มครูขาดแคลน กลุ่มครู 8 คลังสมอง ครูวิทย์-คณิต กลุ่มครูที่ดูแลน้องเด็กพิเศษ บุคลากรด้านธุรการ นักการภารโรง
“โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกกลุ่ม จึงได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อให้ดูแลกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ถึงสิ้นเดือนกัยนยน หรือสิ้นปีของงบประมาณ”
นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า งบประมาณดังกล่าว เป็นการอนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ซึ่งเป็นงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าจ้างผู้ปฏิบัติงาน ให้ราชการสำหรับเขตพื้นที่และโรงเรียนเป็นวงเงินประมาณ 1,848 ล้านบาท โดยประมาณ
“ทั้งนี้งบดังกล่าวนั้น ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านได้จัดสรรงบส่วนกลางมาให้ เนื่องจากงบปกตินั้นไม่เพียงพอ” นางสาวตรีนุช กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ มีอัตราลูกจ้างดังกล่าวทั้งหมดอยู่ที่ 61,119 อัตรา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ขอจัดตั้งงบประมาณ แต่ปรากฏว่าเราได้งบประมาณมา 43,700 ล้านบาท แต่ที่เราจำเป็นต้องใช้ 4,379 ล้านบาท แต่งบประจำปีที่ให้มาแล้ว 2,531 ล้านบาท ซึ่งเหลือ 1,800 ล้านบาท เพื่อทำให้ได้งบประมาณที่เพียงพอที่จะใช้จ่ายทั้งปี ซึ่งก่อนหน้านี้คาดว่าจะมีงบจ่ายไม่เพียงพอ แต่ขณะนี้ก็จะมีงบจ่ายได้อย่างเพียงพอแล้วหลังจากได้งบดังกล่าวมา
“ขอให้ทุกคนสบายใจได้ว่า จะมีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลบุคลากรได้ไปจนถึงสิ้นปี และปี 66 กระทรวงศึกษาธิการก็ได้จัดทำงบประมาณเข้าไปแล้ว ซึ่งงบประมาณดังกล่าวสามารถครอบคลุมได้ทั้งหมดแล้ว” รมว.ศึกษาธิการกล่าว
ส่วนเรื่องการรับนักเรียนเข้าเรียนต่อระดับ ม.1 และ ม. 4 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้แบ่งออกเป็น 3 ช่วงในการรับเด็กนักเรียนดังกล่าว โดยในช่วงวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นการสอบคัดนักเรียนโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ในการสอบครั้งนั้น ได้พบปัญหาว่า หากมีเด็กนักเรียนติดโควิด-19 จะจัดการอย่างไร มีสิทธิสอบหรือไม่ หรือหากมาสอบจะมีการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อไม่ให้ติด เราจึงได้ทดลองการสอบของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยได้มีการแยกสถานที่สอบ กรณีเด็กที่ติดโควิด-19 ที่จะสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดม ก็จะมาสอบที่โรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการจัดสถานที่ไว้ให้ ส่วนกลุ่มเด็กนักเรียนที่ไม่ติดโควิด-19 ก็ยังคงไปสอบที่อิมแพคเมืองทองธานี โดยจะมีการแยกกลุ่มนักเรียนออกจากกันชัดเจน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย รวมถึงมาตรการต่างๆ
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้เรียนรู้ปัญหาต่างๆ จากการสอบ GAT/PAT เรื่องการทุจริตในการสอบ ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเอง ท่านก็ได้มีการกำชับในเรื่องนี้เวลาที่จะมีการสอบ ก็คือ ม.1 และ ม.4 ที่จะมีการสอบในวันที่ 26 มีนาคม และวันที่ 27 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งได้มีการกำชับตั้งแต่ขบวนการผลิตและการออกข้อสอบ ว่าจะมีขบวนการอย่างไรให้มีความรัดกุม และไม่ให้มีการทุจริต ไม่ให้มีข้อสอบรั่วออกมาได้ โดยจะมีมาตรการในการควบคุมเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งทาง สพฐ. ก็ได้มีแนวให้ไปแล้ว
นอกจากนี้ ในส่วนของการบริหารวันสอบ นายอัมพร กล่าวว่า ก็มีตั้งแต่เรื่องการจัดห้องสอบ การจัดแยกเด็กที่จะติดเชื้อหรือไม่ติดเชื่อโควิด-19 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกาธิการ ยังได้เน้นย้ำ เรื่องของการให้เด็กนักเรียนทุกคนได้มีสิทธิ ในการเข้าสอบตัดเลือกในครั้งนี้ เว้นแต่บุคคลที่ไม่สามารถมาที่สนามสอบได้ ที่เป็นเหตุสุดวิสัยรวมไปถึงการคัดกรอง เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่เป็นอิเลกทรอนิกส์ เข้าไปในห้องสอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนการสอบ GAT/PAT ซึ่งในส่วนนี้ได้เน้ย้ำและกำชับไปแล้ว
ทั้งนี้โรงเรียนที่มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนม.1 และม.4 มีทั้งหมด 215 โรง นอกนั้นก็เป็นโรงเรียนที่สามารถรับเด็กได้ตามจำนวน อย่างไรก็ตามในปีนี้แม้เด็กจะมีจำนวนน้อยลง แต่โรงเรียนก็ยังคงเท่าเดิม และยืนยันว่าเด็กทุกคนมีที่เรียนแน่นอน
“ภาพรวมของเราขณะนี้ เราต้องการเน้นไปที่ให้เด็กได้มีโอกาส เพราะกระทรวงศึกษาธิการได้มีการทำงานร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขมาโดยตลอดอยู่แล้วในเรื่องของการวางแผน ในการที่จะให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสและสามารถเดินทางไปสอบได้ แม้ว่าจะตรวจแล้วเจอว่าเด็กเป็นโควิด-19 เราก็สามารถแยกห้องสอบได้”นางสาวตรีนุช กล่าวย้ำ
ส่วนปัญหาการรับแป๊ะเจี๊ยะนั้น นางสาวตรีนุช กล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญ และมีการเน้นย้ำในเรื่องมาโดยตลอด ให้มีการสร้างความโปร่งใส และให้ทุกคนได้มีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน