ในวันพรุ่งนี้ (24 มีนาคม 2565) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ถือฤกษ์ดีเตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อลงสนามสู้ศึกรับเลือกเป็น ผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัย น่าสนใจว่าตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่นั่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน มีผลงานเชิงประจักษ์ หรือ เห็นเป็นรูปธรรมอะไรบ้าง
ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมผลงานมาให้บางส่วนที่ปรากฎอย่างเด่นชัดมากที่สุด นั่นก็คือ การพัฒนาคลองโอ่งอ่างให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองกรุง ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการการันตีจาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตประธานรัฐสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว มองว่า เป็นผลงานของกทม. ชุดนี้
ยิ่งไปกว่านั้นพัฒนา "คลองโอ่งอ่าง" ได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 6 ประเทศของโครงการต้นแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์ หรือ 2020 Asian Townscape Awards จาก UN-Habitat Fukuoka ที่เหมาะสมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ศิลปวัฒนธรรม ที่มีความสอดคล้องระหว่างภูมิทัศน์ของเมืองกับรูปแบบการดำเนินชีวิตดำเนินการ ซึ่งนับเป็นการคว้ารางวัลระดับโลกที่แสดงถึงพัฒนาการที่ดีของการทำงานปรับปรุงคูคลอง ในพื้นที่กรุงเทพฯ จากทางกทม.ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด
ผลงานที่โดดเด่นอีกประการ คือ การจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย คืนทางเท้าให้กับประชาชนได้ใช้สัญจรมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายผลเพิ่มพื้นที่การจัดระเบียบฯ กทม. ปรับปรุงทางเท้า และปรับปรุงภูมิทัศน์ในหลายพื้นที่ อาทิ ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา ถนนสีลม เขตบางรัก ถนนพระราม 4 เขตบางรัก ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน ถนนพระราม 1 (สยาม) เขตปทุมวัน ถนนพหลโยธิน (สนามเป้า) เขตราชเทวี แยกประตูน้ำ เขตราชเทวี และบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี เป็นต้น
รวมถึงโครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (Chao Phraya Sky Park) โดยเนรมิต สะพานด้วน สิ่งปลูกสร้างจากโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินเดิมที่รกร้างมานานนับ 3 ทศวรรษให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อใช้พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมืองกรุง
เพิ่มปอดให้กับคนกรุงด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น โดยในปี 2563 กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 632 ไร่ 3 งาน 31.85 ตารางวา อัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร คิดเป็น 7.08 ตร.ม. ต่อคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีพื้นที่ที่สีเขียวฯ 6.91 ตร.ม.ต่อคน
การก่อสร้างแก้มลิงใต้ดิน Water Bank หรือ ธนาคารน้ำใต้ดินแล้วเสร็จ จำนวน 2 จุด จุดแรกอยู่ที่บริเวณวงเวียนบางเขน อีกจุดอยู่ที่บริเวณปากซอยสุทธิพร 2 ดินแดง และเปิดช่องทางรับเรื่องร้องทุกข์ผ่านไลน์แอทอัศวินคลายทุกข์ (@aswinbkk) เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน
นอกจากนี้ได้เพิ่มสถานีดับเพลิงย่อยอีก 4 สถานี เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้ทันเวลาตามมาตรฐาน ทั้งยังติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่า ในสวนสาธารณะ 57 แห่ง สะพานลอยอีก 657 แห่ง และถนนอีก 694 สาย รวมถึงการติดตั้งกล้อง CCTV แบบเชื่อมต่อศูนย์ควบคุมเพิ่มอีกเกือบ 5,000 ตัว และเชื่อมโยงกล้องที่เป็นแบบ Stand alone ให้กลายเป็นกล้องเชื่อมต่อเครือข่ายได้ทั้งหมดกว่า 42,000 ตัว รวมทั้งสิ้น 46,834 ตัว
นอกจากนี้ยังจับมือกับภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนากทม.ในมิติต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การนำแนวคิดจากกลุ่มเมย์เดย์ มาผลิตเป็นป้ายหยุดรถเมล์โดยนำร่องไปแล้ว 30 ป้าย ซึ่งกทม.ได้จัดสรรงบประมาณปี 2562 และ 2563 เพื่อจัดทำป้ายไปติดตั้งบริเวณจุดเชื่อมต่อการเดินทางและที่ที่มีประชาชนใช้เส้นทางจำนวนมาก กทม.กับกลุ่มเมย์เดย์ได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และเร่งสร้างโรงพยาบาล กทม. ทุกมุมเมือง เป็นต้น
มาลุ้นกันว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.รอบนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จะได้กลับมาสานงานที่ค้างคาอยู่ต่อไปหรือไม่