เดินหน้านำเสนอนโยบายอย่างต่อเนื่อง สำหรับ นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 3 ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ได้เผยมุมมองในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ด้วยการนำแนวคิด Smart Farming มาต่อยอดเป็นนโยบายสร้างงานสร้างอาชีพ โดยยก Res-Q Farm ฟาร์มทดลองขนาด 9 ไร่ ในย่านคลองสามวา เป็นต้นแบบเกษตรกรรมวิถีใหม่ที่ไม่ใช้สารเคมี สามารถลดต้นทุน และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ผ่านเวทีเสวนาที่มี นายวีระ สรแสดง เจ้าของ Res-Q Farm มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ โดย นายสกลธี พร้อมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากประชาชน รวมถึงกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ในชุมชน
“ผมมองว่าพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ หลายแห่งยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งมักประสบปัญหาด้านต้นทุนและผลผลิต การส่งเสริมให้เกษตรกร รวมไปถึงคนทำงานที่สนใจการเกษตรวิถีใหม่ได้มีความรู้และเข้าใจการทำเกษตรกรรมแบบ Smart Farming ที่สามารถทำได้ไม่ยาก จะช่วยลดปัญหาตรงนี้ลงได้"
นายสกลธี กล่าวว่า ได้เลือก Res-Q Farm เป็นฟาร์มต้นแบบ ซึ่งสามารถเปลี่ยนพื้นที่ที่มีปัญหา ทั้งที่ดินต่ำกว่าถนน น้ำท่วม ไม่มีไฟฟ้า และดินไม่ดี ให้เป็นฟาร์มแบบออร์แกนิก ไม่ใช้สารเคมี และเน้นพลังงานสะอาดในการบริหารจัดการ โดยนำวัสดุเหลือใช้อย่างเช่น มอเตอร์เครื่องซักผ้า มอเตอร์ตู้เย็น อุปกรณ์รถยนต์ มาประยุกต์สร้างสรรค์เป็นเครื่องมือต่างๆ และใช้พลังงานจากโซลาร์เซลเป็นหลัก ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดค่าไฟฟ้า ทั้งยังสร้างรายได้ด้วยการส่งขายและแปรรูปเป็นอาหาร
"เมื่อครั้งยังเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ผมได้นำแนวคิดนี้ไปทดลองทำเป็นแปลงเกษตรและบรรจุสอนเป็นวิชาที่โรงเรียนฝึกอาชีพของกรุงเทพมหานคร (หนองจอก) พร้อมกับทำเป็นศูนย์การฝึกอาชีพของคนพิการทุกประเภทด้วย ซึ่งคาดว่าจะทำการเรียนการสอนได้ในเร็ววันนี้”
“โมเดล Smart Farming นี้ผมจะต่อยอดไปสู่การสนับสนุนให้พี่น้องชาวกรุงเทพฯ นำความรู้เรื่อง Smart Farming ไปใช้ในการปลูกพืชผักในพื้นที่ของตัวเอง อาจจะเป็นสวนหลังบ้าน ระเบียงบ้าน หรือในลานจอดรถ เพื่อสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว เน้นปลูกผักไฮโดรโปนิกส์หลายชนิด รวมถึงพืชผักที่มีราคาดีอย่างโรสแมรี่ ออริกาโน่ ผักเคล เห็ด ชาทาร์รากอน
โดยมีฝ่ายพัฒนาชุมชนของกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ทั้งการให้ความรู้ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และหาช่องทางการจำหน่ายให้ เป็นการให้ให้ทุกบ้านสามารถทำการเกษตรเป็นอาชีพ ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมได้อย่างครบวงจร” นายสกลธี กล่าว
การเสวนาและนำเสนอนโยบายครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนคนรุ่นใหม่ที่สนใจวิถีเกษตรกรรมแบบ Smart Farming เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก พร้อมทั้งได้นำเสนอปัญหาที่อยากให้กรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับปากท้อง ซึ่งนายสกลธีได้รับฟังและร่วมถกถึงหนทางแก้ไข เพื่อนำไปบรรจุลงในนโยบายในการพัฒนากรุงเทพฯ ให้ดีกว่านี้