20 เมษายน 2565 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ การจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้กำหนดให้มีการประชุมใหญ่สามัญพรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี 2565 ใน วันที่ 23 เม.ย.นี้ เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ มีวาระการประชุมที่สำคัญ คือ ระเบียบวาระรับรองรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี 2564 ครั้งที่ 1 พ.ศ.2564 การดำเนินการตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 43 และมาตรา 61 รายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปีที่ผ่านมา รับรองงบการเงิน ประจำปี 2564
พิจารณาแผนยุทธศาสตร์ของพรรค แผนหรือโครงการที่จะดำเนินการกิจกรรมสำหรับปีต่อไปโดยเฉพาะการหารายได้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในทางการเมืองและการพัฒนาบุคลากรทางการเมือง
นายราเมศ กล่าวด้วยว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 สมาชิกที่เป็นองค์ประชุมบางส่วนจะมีการเข้าร่วมประชุมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ระบบ Zoom ส่วนผลการประชุมจะได้แถลงให้ทราบอีกต่อไป
ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวในการแถลงการขอโทษต่อเหตุการณ์นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมีตนเป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ เพิ่มเติมจากข้อบังคับพรรคที่มีอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การใช้ตำแหน่งไปแสวงประโยชน์ รวมถึงพิจารณาแนวทางการให้การช่วยเหลือผู้เสียหายจากกรณีอดีตรองหัวหน้าพรรคด้วย
นางสาวรัชดา กล่าวว่าขณะนี้มีรายชื่อคณะกรรมการครบ 9 ท่านแล้ว ประกอบด้วยบุคคลทั้งภายในและภายนอกพรรค ดังนี้
บุคคลในพรรค
1.ดร.รัชดา ธนาดิเรก
2.นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท
3.นางสาวนริศา อดิเทพวรพันธุ์
4.พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ
5.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
บุคคลภายนอก
1.นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย
-สมาชิกคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
-ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน (กรรมการสิทธิคนพิการสหประชาชาติ)
-นายกสมาคม ส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ
2.นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง
ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
3.นางเรืองรวี พิชัยกุล
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา
4.นางสาวธนวดี ท่าจีน
ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า ต้องการให้คณะกรรมการชุดนี้ทำงานได้อย่างเป็นอิสระ มีมุมมองที่ครอบคลุม ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อสรุปของคณะกรรมการฯ นอกจากจะนำไปสู่การแก้ไขข้อบกพร่องภายในพรรคแล้ว ก็อาจเป็นประโยชน์กับองค์กรอื่นได้ เพราะพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ มีโอกาสเกิดขึ้นในองค์กรอื่นเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคในวันนี้ และความตั้งใจที่จะแก้ปัญหา น่าจะเป็นบทเรียนที่สังคมเรียนรู้ไปด้วยกัน และร่วมกันขจัดมันออกไป
“สำหรับกรรมการภายนอกทั้งสี่ท่านที่ได้เรียนเชิญมาร่วมงาน ทุกท่านเป็นผู้ที่มีบทบาทด้านการต่อต้านการคุกคามทางเพศและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มาอย่างยาวนานเป็นที่รู้จักและไว้วางใจของสังคม จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในการทำงานของคณะกรรมการ ว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยจะไม่มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมใดๆ และจะให้มีการประชุมวาระแรกโดยเร็วที่สุด เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานต่อไป” นางสาวรัชดา กล่าว