นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อขอให้ตรวจสอบที่ดิน ภ.บ.ท.5 ของ ส.ส. จำนวน 14 คน ที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินไว้ต่อ ป.ป.ช. และแจ้งว่ามีทรัพย์สินเป็นที่ดินประเภท ภ.บ.ท.5 เป็นที่ดินมือเปล่าไว้ด้วยนั้น อาจอยู่ในเขตป่าสวนแห่งชาติหรือไม่
สำหรับ 14 รายชื่อที่ นายศรีสุวรรณ ยื่นแนบให้กรมป่าไม้ตรวจสอบ เป็น ส.ส. จำนวน 14 คน ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้ต่อ ป.ป.ช.และแสดงรายการทรัพย์สินว่ามีที่ดินประเภท ภ.บ.ท.5 มีดังนี้
นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย
นายเกียรติ เหลืองขจรวิทย์ ส.ส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย
นายอนุซา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคพลังประชารัฐ
นายโชดิพิพัฒน์ เตซะโสภณมณี ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคภูมิใจไทย
พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ
น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ
นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์
นายสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรครวมพลังประชาชาติไทย
นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์
นายมานพ ศรีผึ้ง ส.ส.นครสวรรค์ พรรคภูมิใจไทย
นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย
นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่ศาลฎีกามีคำพิพากษากรณีการยึดถือครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.โดยไม่มีสิทธิของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตไปแล้วนั้น แต่เนื่องจากยังมี ส.ส.อีกอย่างน้อย 14 คน ที่แจ้งบัญชีทรัพย์สินฯไว้ต่อ ป.ป.ช.ว่ามีที่ดินประเภท ภ.บ.ท.5 อยู่ด้วย ซึ่งที่ดินประเภทดังกล่าว เป็นเพียงเอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภาษีดอกหญ้า)
ซึ่งท้องถิ่นจะจัดเก็บ ไม่เกี่ยวกับว่าใครเป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิครอบครองที่ดิน เพราะเจ้าของที่ดินก็ยังคงเป็นของทางราชการอยู่ เพียงแต่อาจจะให้มีการใช้ประโยชน์ชั่วคราว แต่ไม่ถือว่าผู้ที่ใช้ประโยชน์นั้นเป็นเจ้าของที่ดิน
ซึ่งปัจจุบันมีคำสั่งกรมการปกครองเมื่อปี 2551 ได้สั่งให้ยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว เพราะปัญหาคือ ส่วนมากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การแจ้งเสียภาษีก็แจ้งกันเองโดยไม่รังวัด พบว่ามี ส.ส.บางรายครอบครองเป็นร้อยไร่ อยู่ชายขอบของป่า ซึ่งการที่ ส.ส.มีเอกสารสิทธิเป็น ภ.บ.ท.5 มาแสดงย่อมไม่ใช่เอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 676/2519 กำหนดบรรทัดฐานไว้แล้วว่า “ผู้ที่มีชื่อในใบเสร็จเสียเงินบำรุงท้องที่เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้เสียภาษีเท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานแสดงว่าผู้นั้นมีสิทธิครอบครอง” ดังนั้น การที่เหล่า ส.ส. อย่างน้อย 14 คนได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปรากฏโดยชัดแจ้งว่ามีที่ดิน ภ.บ.ท.5 อยู่ด้วย จึงไม่ถือว่ามีฐานะยากจนหรือเป็นเกษตรกร หรือผู้ยากไร้ ซึ่งขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการเป็นเกษตรกร พ.ศ.2535 โดยตรง
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงมาร้องเรียนต่ออธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อขอให้ตรวจสอบที่ดิน ภ.บ.ท.5 ของเหล่า ส.ส.ทั้ง 14 คน ว่าอยู่ในที่ดินของรัฐ หรือในพื้นที่ป่าสวนแห่งชาติ หรือไม่ อย่างไร หากพบว่าอยู่ในเขตพื้นที่ป่า ให้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษตามครรลองของกฎหมายต่อไป