กรณี นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตกเป็นผู้ต้องหา คดีกระทำอนาจารและคดีข่มขืน ซึ่งจนถึงวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายแสดงตัวแล้ว 15 ราย ทำให้มีผู้สนใจติดตามความคืบหน้าของคดีเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ต้องหาเป็นคนดังในวงสังคม อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะลักษณะของคดีประเภทนี้ที่มีข้อจำกัดหลายประการ ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงในเชิงกฏหมาย
หลายคนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ อายุความ แม้จะมีผู้ปรากฏตัวเป็นผู้เสียหายนับสิบราย แต่ส่วนใหญ่ระบุเหตุการณ์เกิดขึ้นนานแล้ว คดีอาจจะหมดอายุความไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ เป็นคดีที่ยอมความได้ หรือ ยอมความไม่ได้ ทั้งสองประเด็นข้อสงสัยดังกล่าว นายวุฒิชัย พุ่มสงวน อัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชนและสถาบันครอบครัว ได้ให้ข้อมูลความรู้ ผ่านบทความ “อายุความในการแจ้งความร้องทุกข์ เป็นคนละเรื่องกับอายุความในการจับตัวผู้ต้องหามาลงโทษ” เอาไว้อย่างชัดเจน มีรายละเอียด ดังนี้
“อายุความในการแจ้งความร้องทุกข์ เป็นคนละเรื่องกับอายุความในการจับตัวผู้ต้องหามาลงโทษ”
คดีความผิดที่ยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 วางหลักไว้ว่า “ถ้าผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์แจ้งความภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทําความผิด เป็นอันขาดอายุความ”
คดีความผิดที่ยอมความได้ หรือความผิดต่อส่วนตัว เจตนารมณ์ของกฎหมายเห็นว่า ความผิดฐานนั้นๆ กระทบเฉพาะตัวผู้เสียหาย คนอื่นไม่เกี่ยว ผู้เสียหายอาจจะไม่เอาเรื่องเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่อยากวุ่นวาย หรือ อโหสิกรรมให้แล้ว ฯลฯ หรือเหตุส่วนตัวต่างๆ ที่ไม่อยากเป็นคดีความ เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่มีอำนาจเข้าไปดำเนินคดีโดยพลการ จะต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์มอบคดี ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีก่อน เจ้าหน้าที่รัฐถึงจะมีอำนาจดำเนินคดี
แต่ภายหลังจากแจ้งความร้องทุกข์แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการสืบสวนสอบสวน ให้รู้ตัวคนร้าย และตามจับมาดำเนินคดีให้ได้ ดังนี้ เป็น “อายุความในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ”
อายุความในการดำเนินการเอาตัวคนร้ายมาดำเนินคดี มีแทรกอยู่ในกฎหมายบางฉบับ แต่หลักทั่วไปของอายุความอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ซึ่งวางหลักไว้ว่า
“ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทําความผิดมายังศาลภายในกําหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทําความผิด เป็นอันขาดอายุความ
(1) ยี่สิบปี สําหรับความผิดต้องระวางโทษ ประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกยี่สิบปี
(2) สิบห้าปี สําหรับความผิดต้องระวางโทษจําคุก กว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(3) สิบปี สําหรับความผิดต้องระวางโทษจําคุก กว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(4) ห้าปี สําหรับความผิดต้องระวางโทษจําคุกกว่า หนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
(5) หนึ่งปี สําหรับความผิดต้องระวางโทษจําคุก ตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
“อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันกระทำความผิด ไม่ใช่นับตั้งแต่วันแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ”
อายุความเป็นหลักกฎหมายที่ขัดกับความรู้สึกของฝั่งผู้เสียหาย แต่ถ้าไม่กำหนดอายุความ ผู้เสียหายก็จะไม่รีบแจ้งความ พยานหลักฐานก็สูญหาย ประจักษ์พยานก็จะหลงลืมไปตามกาลเวลา ฝ่ายคนที่จะถูกกล่าวหา ก็ไม่รู้ว่าจะถูกดำเนินคดีเมื่อไหร่ ไม่ได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองจะแจ้งความดำเนินคดีกับตัวเองก็ทำไม่ได้ และคงไม่มีใครเขาทำกัน และหากมีการแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีภาระงานอื่นมากมาย ก็อาจจะไม่รีบดำเนินการเพราะไม่มีกรอบเวลาทำงาน
คดีข่มขืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ที่เกิดเหตุก่อนวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เป็นความผิดตามกฎหมายเก่าที่ “ยอมความได้”
แต่เนื่องจากคดีข่มขืนพอเป็นคดีที่ยอมความได้ ผู้เสียหายจึงถูกบีบบังคับ ไม่ว่าโดยฝั่งผู้ต้องหาที่ประสงค์จะจบคดี ยอมชดใช้เงินค่าเสียหาย ฝั่งผู้เสียหายก็หวาดกลัวอิทธิพล หรือความไม่รู้ขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมจะไปทางไหน จะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่และหลายครั้งที่มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็พยายามกล่อม ผู้เสียหาย ให้รับเงินแล้วถอนคำร้องทุกข์ไป “เพราะที่เสีย ก็เสียไปแล้ว เอาเค้าติดคุกไป ก็ไม่มีใครได้ประโยชน์ สู้รับเงินไปเสีย ยังได้อะไรติดไม้ติดมือไปบ้าง”
พนักงานอัยการเองโดยระบบกฎหมายปัจจุบันก็ไม่เปิดช่องให้ดำเนินการอย่างใด ได้แต่นั่งรออ่านสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ฯลฯ พนักงานอัยการเห็นแค่บันทึกยอมความมาในสำนวนเท่านั้น ข้อเท็จจริงอื่นนอกสำนวนไม่มีโอกาสรับรู้
แม้พนักงานอัยการจะมีอำนาจสั่งสอบสวนเพิ่มเติม แต่บ่อยครั้งก็ล่วงเวลาที่จะแก้ไข เพราะกรอบเวลาที่จำกัด ซึ่งฟังดูอาจจะเป็นเรื่องแปลก เพราะพนักงานสอบสวน กับพนักงานอัยการ ถูกกำหนดให้เป็นคนละองค์กร แต่ต้องใช้ระยะเวลาการทำงานร่วมกัน กว่าสำนวนจะส่งมาที่พนักงานอัยการบางทีเหลือเวลาทำงานแค่วันเดียวจะครบกำหนดฝากขังและต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไป ทั้งเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนานพยานหลักฐานบางอย่างก็สูญหายไปแล้ว จะสอบสวนเพิ่มเติมก็ไร้ประโยชน์ และไม่ทันการ ไม่ว่าจะเกิดโดยความบกพร่อง หรือโดยเจตนาอื่นก็ไม่ทราบได้ การสั่งสำนวนด้วยเวลากระชั้นชิด และต้องเชื่อข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนเท่านั้น เอกสารก็มีลายเซ็นต์ผู้เสียหายเซ็นต์มา แต่ประเทศไทยไม่มีฐานข้อมูลลายเซ็นต์ จะรู้ไหมว่าลายเซ็นต์จริงหรือเปล่า แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐรับรองมา เบื้องต้นก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าลายเซ็นต์จริง ข้อความบันทึกมาถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ให้ปากคำ ซึ่งจะย่อความ ขยายความมาอย่างไรก็ไม่อาจทราบได้
จึงได้มีกระแสเรียกร้องให้แก้ไขหลักการสำคัญ เปลี่ยนความผิดฐานข่มขืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ให้เป็น ความผิดที่ยอมความไม่ได้ จนกระทั่งแก้ไขได้สำเร็จและเริ่มใช้กฎหมายใหม่ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2562
ดังนั้น คดีข่มขืน ที่เกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 โดยหลักจึงเปลี่ยนเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ เป็นคดีความผิดต่อรัฐ หรือ คดีอาญาแผ่นดิน
เว้นแต่ คดีข่มขืนที่เกิดขึ้นระหว่างคู่สมรส(ต้องจดทะเบียนสมรสแล้ว) ที่กฎหมายยังเปิดช่องให้ยอมความได้ แต่ถ้าเป็นผัวเมียกัน อยู่กินกันแต่ไม่จดทะเบียนสมรส แม้จะมีลูกมีเต้าด้วยกันแล้ว ถ้ามีการข่มขืน โดยหลักก็เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้
การกลายเป็นคดีอาญาแผ่นดิน จึงส่งผลสำคัญ ก็คือ