นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง กรณีชวนคิดปริญญ์ พานิชภักดิ์ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้
“ผมทำอะไรไม่ได้อยู่หลายวัน เพราะเฝ้าแต่ถามว่า ทำไมข่าวของคุณปริญญ์ทำให้ผมตกอยู่ในอาการช็อกและทำให้ผมทุกข์ใจมาก ก็เพราะคุณปริญญ์เป็นลูกชายของเพื่อนรักของผมคือ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ครอบครัวเรารู้จักกันดี ภรรยาก็รู้จักกัน ลูกๆ ก็รู้จักกัน ท่านใดที่เป็นพ่อคนเป็นแม่คน
คงจะพอเดาได้ไม่ยากว่าคนเป็นพ่อแม่ของลูกจะรู้สึกอย่างไรไม่ว่าลูกของตนจะอยู่ในฝั่งผู้เสียหายหรือผู้ก่อเหตุก็ตาม พ่อและแม่ทุกข์ใจกันทุกคน ไม่มีใครควรจะซ้ำเติมใคร เราควรให้ความเห็นใจหัวอกคนเป็นพ่อแม่กันและกันจะดีกว่า
สิ่งที่ผมจะพูดดังต่อไปนี้ จะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกรณีของคุณปริญญ์ เพียงแต่ว่ากรณีของคุณปริญญ์ทำให้ผมฉุกคิดเกี่ยวกับท่าทีและความรู้สึกนึกคิดของนักการเมืองอาวุโสทั้งหลายที่มีบทบาทอยู่ในเมืองไทย บางคนนั้นมีทัศนคติผิดๆ ต่อคนที่เคยไปเรียนในต่างประเทศอยู่หลายประการดังนี้
พวกเขามักจะมีทัศนคติที่เข้าใจว่าใครก็ตามที่เคยเรียนเมืองนอก เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วสามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วเหมือนฝรั่งพูด บุคคลนั้นต้องเป็นคนเก่ง ซึ่งตามความจริงแล้ว การพูดภาษาอังกฤษเก่งมิใช่ตัววัดความเก่ง เลย (นอกซะจากคุณจะอยู่ในสายอาชีพที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เช่น มัคคุเทศก์)
ถ้าใครโชคดี เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีศักยภาพ สามารถส่งลูกไปเรียนเมืองนอกได้ตั้งแต่เขาอายุ 10 ขวบ ถ้าเขาสามารถเรียนต่อจนจบปริญญาตรี โท หรือเอก ก็หมายความว่าเขาต้องใช้เวลาอยู่ที่เมืองนอกเกือบ 20 ปี หากเป็นเช่นนี้ ถ้าเขาไม่เป็นใบ้ เขาก็ต้องพูดภาษาอังกฤษได้เก่งและคล่องแคล่วเหมือนฝรั่งพูด
สิ่งนี้ไม่ได้ชี้วัดแต่อย่างใดว่าเขาเป็นคนเก่ง ฝรั่งขอทานไร้บ้านที่นอนอยู่ตามข้างถนนทั่วทั้งอเมริกาและอังกฤษก็พูดภาษาอังกฤษได้เก่งและคล่องแคล่ว แต่เราก็ไม่อาจชื่นชมว่าคนเหล่านี้มีความเก่งกาจได้
เด็กไทยทุกคนสามารถพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว มิได้หมายความว่าเด็กไทยเหล่านั้นเป็นเด็กที่เก่งกว่าเด็กเขมรที่พูดไทยไม่ได้ฉันใดก็ฉันนั้น
ทัศนคติที่ผิดอีกอย่างก็คือ การเข้าใจเอาเองว่าถ้าใครก็ตามที่เคยไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อในอเมริกาหรือในอังกฤษ หากใครคนนั้นจบปริญญาตรี โท หรือเอก กลับมา เขาจะต้องเป็นคนเก่งน่ามอบหมายให้บริหารบ้านเมือง แต่ตามความจริงแล้ว ใครก็ตามถ้ามหาวิทยาลัยดังๆ ทั้งหลายรับให้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของเขาได้ ทุกคนก็สามารถเรียนจบได้ทั้งนั้นแหละครับ ถ้ามีความอึด เพียงพอเสียอย่าง
แต่ข้อเสียที่ถูกมองข้ามไปคือคนเหล่านี้เมื่อเข้ามาทำงานในเมืองไทยพวกเขาจะเป็นคนหลงตัวหัวสูง arrogant คิดว่าตัวเองเก่งฉลาดกว่าคนอื่นๆ จึงเป็นพวกที่จะไม่ค่อยฟังความเห็นต่าง ชอบดันทุรังไม่ฟังใคร ถ้าคนเช่นนี้เป็นผู้นำไม่ว่าในทางการเมืองหรือทางราชการ ก็อาจจะเป็นภัยต่อส่วนรวมได้ (แต่ต้องหมายเหตุว่า การหลงตัวหัวสูงเช่นนั้นมิได้เกิดขึ้นกับทุกๆ คน อยู่ที่สิ่งแวดล้อมและสันดานของแต่ละคนด้วย)
สิ่งที่น่าเป็นกังวลเป็นอย่างยิ่งคือ นักการเมืองอาวุโสหลายคนที่มีทัศนคติผิดๆ ตามที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น บางคนยังให้น้ำหนักแก่ความเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง มากกว่าการมีประสบการณ์ในทางการเมืองและการบริหารประเทศ ทำให้ทัศนคติในการประเมินคุณค่าของคนนั้นผิดเพี้ยนซ้ำร้ายยิ่งขึ้นไปอีก
เรื่องประสบการณ์นี้ มองข้ามไปไม่ได้เลยนะครับ จริงอยู่ว่าเราต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีไฟ มีแนวคิดใหม่ๆ แต่ประสบการณ์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก บางคนเรียนมาตามหลักสูตรของฝรั่ง แม้ว่าจะเรียนเก่งมาก ก็ใช่ว่าจะบริหารเก่ง เพราะสิ่งที่เขาเรียนมาอาจมีบริบทที่แตกต่างจากความเป็นจริงในเมืองไทย ความใหม่ไฟแรงต้องทำงานเคียงข้างความมีประสบการณ์ ครับ มันถึงจะเป็นการเติมเต็มให้แก่กันและกันอย่างลงตัว
ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เคยพูดกับผมว่า ‘พวกที่เรียนหนังสือเก่งๆ มักจะขลุกอยู่แต่ในห้องสมุดและวุ่นอยู่กับการคำนวณตัวเลข โดยพวกเขามักจะไม่สนใจวิชาอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับความเป็นผู้นำ เช่น ไม่สนใจศึกษาวิชาด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวิชาจิตวิทยา เป็นต้น พวกคนเหล่านี้จึงเหมาะจะเป็นได้แค่นักวิจัย หรืออาจารย์สอนหนังสือ ถ้าให้คนเหล่านี้เป็นผู้นำองค์กรใดๆ ก็มักจะทำงานออกมาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร’
วันนี้ผมเลยมาชวนคิดครับ ผมหวังว่าบทความนี้จะพอเป็นสติให้แก่นักการเมืองอาวุโสในพรรคการเมืองต่างๆ ได้บ้าง ช่วยให้ท่านคิดให้รอบ มองให้ทุกมิติ และยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลักในการแต่งตั้ง มอบหมาย ฝากฝังความรับผิดชอบในการดูแลประชาชนให้แก่ใครครับ
ผมขอเรียนว่า ความเห็นที่ลงในเฟซบุ๊ก เป็นความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค ปชป.แต่อย่างใด”