ฝ่ายค้านสรุปญัตติ 6 ข้อหา "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" ซักฟอก “นายกฯ-รมต.”

26 เม.ย. 2565 | 11:13 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2565 | 07:30 น.

ฝ่ายค้านสรุปแล้วญัตติ 6 ข้อหาซักฟอกนายกฯ-รมต.เป็นรายบุคคล เน้นความผิดพลาดล้มเหลวบริหารแผ่นดินของบิ๊กตู่ เตรียมยื่นญัตติหลังกฎหมายลูก 2 ฉบับผ่านวาระ 3

วันนี้ (26 เม.ย.65) พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงการเตรียมความพร้อมการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ  หรือ ซักฟอก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151

 

ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, นายภูมิธรรม เวชยชัย กรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย, นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ คณะทำงานผู้นำฝ่ายค้าน , นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล 

 

นายวิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย , นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ, นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย , นางสาวเกศปรียา แก้วแสนเมือง ตัวแทนพรรคเพื่อชาติ, นายสุพจน์ อาวาส ตัวแทนพรรคประชาชาติ และ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการที่ประชุม ได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ซักฟอก) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันในกรอบเนื้อหาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นประเด็นดังนี้ 

 

  1. เนื้อหามุ่งเน้นไปที่ความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 
  2. จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม 
  3. การทุจริตต่อหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง 
  4. ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา 
  5. การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
  6. การทำลายประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา

 

ฝ่ายค้านสรุป กรอบญัตติ "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" นายกรัฐมนตรีและรมต.

นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นร่วมกันว่า การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เป็นการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งขณะนี้แต่ละพรรคได้รวบรวมข้อมูลและเตรียมความพร้อมทั้งประเด็นการอภิปราย เอกสารและหลักฐานเรียบร้อยแล้ว 


โดยจะมีการยื่นญัตติให้เร็วที่สุด ซึ่งเวลาที่เหมาะสมคือ ภายหลังจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ในวาระที่ 3 แล้ว 


เนื่องจากเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายสำหรับใช้ในการเลือกตั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจยุบสภาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะหากการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจะแล้วเสร็จ อาจทำให้เกิดทางตัน หรือ เดดล็อกทางการเมือง 


“ที่ประชุมก็ได้มอบหมายให้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ยกร่างญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เพื่อนำเสนอที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อพิจารณาต่อไป” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุ