วันที่ 22 พ.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) ผลการนับคะแนน ณ เวลา 18.57 น. ซึ่งนับคะแนนไปแล้ว 31% ปรากฏผลอย่างไม่เป็นทางการ ดังนี้
อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย จำนวน 15 ที่นั่ง 30,551 คะแนน คิดเป็น 27.51%
อันดับ 2 พรรคก้าวไกล จำนวน 12 ที่นั่ง 28,718 คะแนน คิดเป็น 25.86%
อันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 7 ที่นั่ง 20,563 คะแนน คิดเป็น 18.52%
อันดับ 4 อิสระ (กลุ่มรักษ์กรุงเทพ) จำนวน 4 ที่นั่ง 9,003 คะแนน คิดเป็น 8.11%
อันดับ 5 พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 3 ที่นั่ง 14,717 คะแนน คิดเป็น 13.25%
ด้านนายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. แถลงข่าวภายหลังปิดหน่วยลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. และการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา โดยขอบคุณทั้งผู้สมัคร พรรคการเมือง และผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง ที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ภาพรวมระหว่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พบว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งกระทำผิด 3 ราย โดยมีการฉีกบัตรเลือกตั้ง ที่เขตสวนหลวง 1 ราย และเขตสัมพันธวงศ์ 1 ราย นอกจากนั้นยังมีการขยำบัตรเลือกตั้งที่เขตคลองเตย 1 ราย
ส่วนการใช้สิทธิเลือกตั้งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอุณหภูมิร่างกายเกิน 37 องศา มาใช้สิทธิจำนวน 23 และผู้ติดเชื้อโควิดมาใช้สิทธิจำนวน 89 ราย ซึ่งกกต.ก็ได้จัดหน่วยเลือกตั้งพิเศษรองรับ และมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการแพร่ระบาด ขณะนี้อยู่ในช่วงการนับคะแนน จากที่ติดตามพบว่ามีการนับค่อนข้างเร็ว โดยยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่าไม่เกิน 21.00 น. จะทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ
ส่วนเรื่องร้องเรียนร้องคัดค้านการเลือกตั้งยังคงมีจำนวนเท่าเดิม แต่ในระหว่างการเลือกตั้งมีการแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน 1444 ทั้งการขนคนไปลงคะแนน ทำลายป้ายหาเสียง และเตรียมการซื้อสิทธิขายเสียง 1 ราย ทางสำนักงานฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบแล้ว
ส่วนการเลือกตั้งเมืองพัทยา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พบว่ากรรมการประจำหน่วยมีการแจกบัตรเกิน 1 ใบ โดยเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เลือกนายกเมืองพัทยาได้อย่างเดียว แต่มีการแจกบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นไปด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้บันทึกเป็นหมายเหตุไว้แล้ว
สำหรับเรื่องความสับสนในการใช้ปากกาสีน้ำเงินในการใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ยืนยันว่าเป็นความปรารถนาดีของทั้ง กกต. และกทม. โดยในคู่มืออบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และหนังสือสั่งการให้ใช้ปากกาสีน้ำเงิน ก็เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่เมื่อประสาน กทม.แล้ว พบว่า กทม.ได้มีการอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไปก่อนแล้ว และมีการวางมาตรฐานเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว ทาง กกต.จึงให้เป็นไปตามมาตรฐานของ กทม.
อย่างไรก็ตาม การขอความร่วมมือให้ใช้ปากกาสีน้ำเงินนั้น เนื่องจากเกรงว่าหากใช้สีอื่นจะทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนเสียไป รวมทั้งอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ อย่างไรก็ตามได้ให้แนวทางไปแล้วว่าหากบัตรลงคะแนนลงด้วยปากกาสีอื่น แต่เป็นการทำเครื่องหมายกากบาทปกติไม่เข้าลักษณะเป็นบัตรเสียก็ให้ถือเป็นบัตรดี พร้อมได้แจ้งไปยังเมืองพัทยาให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน