นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และพรรคการเมือง ยื่นร่างพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และพรรคการเมือง ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อนำบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา พร้อมคาดว่า จะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ ในช่วงวันที่ 9-10 มิถุนายนนี้
มั่นใจว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ เมื่อผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว จะเป็นเครื่องมือสำหรับนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใด ๆ ทั้งการครบวาระของรัฐบาล หรือยุบสภา เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งได้
นายสาธิต ยังชี้แจงถึงการเลือกตั้ง และการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามการปรับแก้ของกรรมาธิการฯ ว่า ส.ส. จะมีทั้งสิ้น 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ตามรัฐธรรมนูญ
การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะหารด้วย 100 ตามจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะต้องเฉลี่ย จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด จากผลคะแนนการเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ เพื่อให้ทราบจำนวนคะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส. 1 คน
ซึ่งในการคำนวณหากยังไม่ครบจำนวณ ก็จะต้องคำนวณต่อในรอบที่ 2 และจะนำจำนวนทศนิยมที่เหลือ มาเรียงลำดับ เพื่อเติมจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ครบจำนวน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเกณฑ์เฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว
สำหรับกระบวนการนับคะแนน นั้น กรรมาธิการฯ ได้ปรับแก้ให้มีความก้าวหน้าขึ้น อาทิ ในกระบวนการนับคะแนน สามารถเปิดโอกาสให้ประชาชน หรือผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง สามารถบันทึกภาพ คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในระหว่างการนับคะแนนได้ ซึ่งคณะกรรมการประจำหน่วย จะต้องคอยอำนวยความสะดวกให้ด้วย
รวมถึงแต่ละหน่วย แต่ละเขตเลือกตั้ง จะต้องบันทึกผลคะแนนขึ้นระบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชน และพรรคการเมือง สามารถตรวจสอบผลคะแนนได้ ภายใน 72 ชั่วโม ภายหลังปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง รวมถึงการเปิดโอกาสให้อำนาจสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ มีอำนาจนับคะแนนการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาบัตรเสีย จากกรณีที่บัตรลงคะแนนเสียง มาไม่ทันเวลาการนับคะแนน
ขณะที่ นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงกระบวนการไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองในการเลือกผู้สมัคร ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า
กรรมาธิการฯ ได้มีการปรับย่อขั้นตอนไพรมารีโหวต จากที่พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งใด จะต้องมี สาขา หรือตัวแทนประจำจังหวัดในเขตการเลือกตั้งนั้น ๆ เช่น จังหวัดใดมี 3 เขตเลือกตั้ง ก็จะต้องมี 3 สาขา เป็นพรรคการเมืองใดจะส่งผู้สมัคร จะต้องมีสาขา หรือตัวแทนพรรคการเมือง ในจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งเพียงสาขาเดียว ก็สามารถครอบคลุมได้ทั้งจังหวัด และทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ
เมื่อคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคการเมือง ได้รายชื่อผู้ลงสมัครเลือกทั้งทั้งหมดแล้ว จะต้องส่งกลับไปยังสาขาพรรคการเมือง เพื่อรับฟังความเห็นเพิ่มเติมด้วย เพื่อยังคงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
นอกจากนั้น ยังลดค่าธรรมเนียมรายปีการเป็นสมาชิกจากปีละ 100 บาท เป็นปีละ 20 บาท และอาจค่าธรรมเนียมสมาชิกตลอดชีพได้ ไม่น้อยกว่า 200 บาท
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การแบ่งเขตการเลือกตั้งว่า เขตพื้นที่จะต้องติดต่อกัน ประชากรสามารถเดินทางติดต่อถึงกันได้โดยสะดวก
และที่สำคัญจำนวนประชากรจะต้องใกล้เคียงกัน โดยค่าเฉลี่ยจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องไม่แตกต่างกันเกิน 10% เช่น จังหวัด ก. มี 5 เขต ก็จะต้องหาจำนวนเฉลี่ยประชากรกลาง และเฉลี่ยการแบ่งเขต ไม่ให้จำนวนเกินกว่า 10% เพื่อลดปัญหาพรรคการเมืองใดได้ประโยชน์จากการแบ่งเขต หรือเสียประโยชน์จากการแบ่งเขตไม่เป็นธรรม
ขณะที่ สาขาพรรคการเมือง และตัวแทนประจำจังหวัดตามเขตการเลือกตั้งในจังหวัด ให้ยังคงอยู่ต่อไป จนกว่าจะครบวาระ ตามที่กฎหมาย หรือข้อบังคับพรรคกำหนด แต่ในการสรรหาผู้สมัครทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อนั้น ให้อำนาจพรรคการเมือง ไปกำหนดว่าจะให้สาขาใด หรือตัวแทนใดเป็นผู้รับผิดชอบ และยังคงรอบรับสิทธิผู้สมัครบัญชีรายชื่อเดิม ก็ยังคงมีผลหากมีความจำเป็นต้องเลื่อนรายชื่อขึ้นมาเป็น ส.ส.
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.มีความเห็นร่วมกันว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา จะขอเลื่อนระเบียบวาระในการประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่าง 9-10 มิถุนายนนี้
เพื่อนำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ขึ้นมาพิจารณาก่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ พ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจ ขึ้นมาพิจารณาก่อน เนื่องจาก ร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ทั้ง 2 ฉบับนี้ มีความสำคัญ และยังมีขั้นตอนกระบวนการมาก กว่าจะสามารถประกาศใช้ได้