“เพื่อไทย”ส่อแลนด์สไลด์ สนามใหญ่ กทม. พปชร.สูญพันธุ์

25 พ.ค. 2565 | 06:17 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2565 | 13:33 น.

“เพื่อไทย”ส่อแลนด์สไลด์ สนามใหญ่กทม. พปชร.สูญพันธุ์ : พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ...พรรคพลังประชารัฐเราก็ต้องมาทบทวนว่า ผิดพลาดในเรื่องการทำงาน เราจะต้องมาแก้ไข

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นไปตามความคาดหมายของแต่ละโพล ที่ออกมาก่อนหย่อนบัตรลงคะแนน วันที่ 22 พ.ค.2565 นั่นคือ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ นำมาทุกโพล


และผลการเลือกตั้งก็เป็นจริงตามโพล เพราะ ชัชชาติ ได้คะแนนเสียงท่วมท้น 1,386,215 คะแนน คิดเป็น 51.8% ของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ “แลนด์สไลด์” มากสุดเป็นประวัติศาสตร์ ที่คนกรุงเทใจให้กับผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 

ทิ้งห่างคู่แข่งคนอื่นชนิดไม่เห็นฝุ่น  โดย “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์”พรรคประชาธิปัตย์ ตามมาเป็นอันดับที่ 2 ได้ 254,647 คะแนน ตามด้วย “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร”ของพรรคก้าวไกล ได้ 253,851 คะแนน “สกลธี ภัททิยกุล” ลงอิสระ ได้ 230,455 คะแนน “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ลงอิสระ ได้ 214,692 คะแนน


“เพื่อไทย”โกยส.ก.20 เขต


ขณะที่ผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จำนวน 50 เขต ก็พบว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) ประสบความสำเร็จได้ไปถึง 20 เขต ประกอบด้วย เขตคลองสามวา น.ส.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ 29,867 คะแนน เขตคันนายาว นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ 18,443 คะแนน เขตจอมทอง นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร 28,443 คะแนน เขตดอนเมือง นางกนกนุช กลิ่นสังข์ 21,238 คะแนน

เขตดุสิต นายศิริพงษ์ ลิมปิชัย 9,416 คะแนน เขตทุ่งครุ นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ 25,931 คะแนน เขตธนบุรี นายจิรเสกข์ วัฒนมงคล  16,597  คะแนน เขตบางกะปิ น.ส.นภัสสร พละระวีพงศ์ 16,428 คะแนน เขตบางคอแหลม นายปวิน แพทยานนท์ 9,045 คะแนน เขตบางรัก นายวิพุธ ศรีวะอุไร 3,480  เขตบึงกุ่ม นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย 20,993 คะแนน 

 

เขตภาษีเจริญ นายกฤษฎ์ คงวุฒิปัญญา 21,814 คะแนน เขตมีนบุรี นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ 24,658 คะแนน เขตลาดกระบัง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา 38,130 คะแนน เขตวังทองหลาง นายอนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ 9,381 คะแนน เขตสวนหลวง น.ส.ปิยะวรรณ จระกา 13,491 คะแนน  เขตสะพานสูง น.ส.มธุรส เบนท์ 14,715 คะแนน เขตหนองแขม นายนวรัตน์ อยู่บำรุง 29,996 คะแนน


“ก้าวไกล"ได้ส.ก.14 เขต


ไปดูพรรคก้าวไกล ได้ ส.ก. 14 เขต คือ นายสราวุธ อนันต์ชล เขตพระโขนง ได้ 9,336 คะแนน นายอานุภาพ ธารทอง เขตสาทร 8,335  นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร เขตวัฒนา 8,819 นายณภัค เพ็งสุข เขตลาดพร้าว 15,222  นายเอกกวิน โชคประสพรวย เขตราชเทวี 7,107 นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ เขตยานนาวา 8,106


นายพีรพล กนกวลัย เขตพญาไท 8,585  นายฉัตรชัย หมอดี เขตบางนา 8,827  น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย เขตบางซื่อ 19,103  นายอำนาจ ปานเผือก เขตบางแค 19,809 น.ส.ลักขณา ภักดีนฤนาถ เขตตลิ่งชัน 13,667  นายอภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย เขตจตุจักร 22,356  นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม เขตทวีวัฒนา 7,827 น.ส.ศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม เขตพระนคร 5,703


ปชป.ยังเหนียวเก็บ 9 เขต


ส่วนพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ 9 เขต คือ นายสารัช ม่วงศิริ เขตบางขุนเทียน 34,158 คะแนน นายธนวัฒน์ เชิดชูกิจกุล เขตประเวศ 22,971 นายนภาพล จีระกุล เขตบางกอกน้อย 14,573 นายภิญโญ ป้อมสถิตย์ เขตบางพลัด 12,575  นายณรงค์ศักดิ์ ม่วงศิริ เขตบางบอน 11,610


นายวิรัช คงคาเขตร เขตบางกอกใหญ่ 9,329 นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล เขตคลองสาน 7,703 นางสาวนิภาพรรณ จึงเลิศศิริ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 5,690 นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ 4,613


พปชร.-ทสท.พรรคละ 2 


ส่วนพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ได้ ส.ก. 2 เขต คือ นางอนงค์ เพชรทัต เขตดินแดง 14,615 คะแนน และ นายณรงค์ รัสมี เขตหนองจอก 26,542
กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ได้ 3 เขต คือ นายสุชัย พงษ์เพียรชอบ เขตคลองเตย 13,871 คะแนน นายนริสสร แสงแก้ว เขตบางเขน 24,213 น.ส.เมธาวี ธารดำรงค์ เขตปทุมวัน 3,685


ขณะที่พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ได้ 2 เขต คือ น.ส.รัตติกาล แก้วเกิดมี เขตสายไหม 44,507 คะแนน นายไสว โชติกะสุภา เขตราษฎร์บูรณะ 9,195 คะแนน

 

                                “เพื่อไทย”ส่อแลนด์สไลด์ สนามใหญ่ กทม.  พปชร.สูญพันธุ์                                


ผลส.ก.สะท้อนสนามใหญ่

 

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กับ ส.ก. หากจะนำไปวิเคราะห์ถึงการเลือกตั้งสนามใหญ่ หรือการเลือกตั้งส.ส.ในครั้งหน้า ก็ต้องดูที่ “ผลการเลือกตั้ง ส.ก.” เพราะจะเป็นพื้นที่ๆ สะท้อนถึงฐานคะแนนนิยม และฐานเสียงของแต่ละพรรคการเมืองได้อย่างแท้จริง 


สำหรับผลการเลือกส.ก. 50 เขตครั้งนี้ หากนำไปวิเคราะห์และแปลงจำนวนที่นั่งส.ก. ไปเป็นจำนวน ส.ส.กทม. ที่มี 33 เขต 33 ที่นั่ง จะได้ผลประมาณนี้ 


พรรคเพื่อไทย(พท.) ได้ ส.ก. 20 เขต คิดเป็น 40 % ของจำนวนส.ส.ใน 33 ที่นั่ง จะได้ส.ส. 13 ที่นั่ง


พรรคก้าวไกล (กก.) ได้ ส.ก. 14 เขต คิดเป็น 28%  จะได้ส.ส. 10 ที่นั่ง 


พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ ส.ก. 9 เขต คิดเป็น 18% จะได้ส.ส. 6 ที่นั่ง 


พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ ส.ก. 2 เขต  คิดเป็น 4% จะได้ส.ส. 1 ที่นั่ง


พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ได้ ส.ก. 2 เขต  คิดเป็น 4% จะได้ส.ส. 1 ที่นั่ง


สำหรับ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ได้ ส.ก. 2 เขต แปลงเป็นส.ส. 1 ที่นั่งนั้น มีข่าวว่าในการเลือกตั้งส.ส.ครั้งหน้า ส.ก.เขตหนองจอก จะย้ายไปอยู่กับพรรคอื่น ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ก็จะทำให้พลังประชารัฐ “สูญพันธุ์”สำหรับสนามส.ส.กทม. จากเดิมที่ในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อ 24 มี.ค.2562 พปชร.ได้ส.ส.ไปถึง 12 คน 


ส่วนพรรคไทยสร้างไทย ที่คิดแล้วได้ส.ส. 1 ที่นั่ง ก็น่าจะเป็นที่ เขตสายไหม

 

ทั้งหมดเป็นเพียงการวิเคราะห์และคาดการณ์เท่านั้น 


“ป้อม”รับพปชร.ต้องทบทวน


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ที่ออกมาว่า “พรรคพลังประชารัฐเราก็ต้องมาทบทวนว่าผิดพลาดในเรื่องการทำงาน เราจะต้องมาแก้ไข แต่สำหรับการเลือกตั้ง ส.ก.ที่พรรคเราได้มา 2 ที่ ก็ต้องแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง รวมถึงคนที่ได้คะแนนอันดับสองด้วย”


เมื่อถามว่าผลคะแนนที่ออกมาจะแสดงถึงทิศทางการเลือกตั้งระดับชาติในครั้งหน้าหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “เรายังไม่ได้ประเมิน ขอให้เราประเมินก่อน” ผู้สื่อข่าวถามว่าคะแนนที่ออกมาถือว่าเป็นแลนด์สไลด์ตามที่พรรคเพื่อไทยระบุหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่ทราบ คงต้องมีการประเมินดูก่อนว่าเป็นอย่างไร


ปชป.พอใจได้ส.ก.9 ที่นั่ง


นายนิพนธ์ บุญญามณี  รมว.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้คะแนนของ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครในนามพรรคได้คะแนนน้อยกว่าที่คาดไว้ แต่การได้ ส.ก. 9 ที่นั่ง เป็นสัดส่วนที่น่าพอใจ จากเดิมตั้งเป้าไว้ 10 คน 


“การที่ได้ 9 ที่นั่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับที่ตั้งเป้าไว้ เพราะได้คะแนนเป็นลำดับที่ 2 อยู่ 4-5 เขต ซึ่งคะแนนห่างกันไม่มาก ดังนั้น หากรวมคะแนนส.ก. ถือว่าเป็นที่น่าพอใจจากเดิมที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีส.ส.ในพื้นที่กทม. โดยเมื่อหารเฉลี่ยคิดเป็นสัดส่วนจำนวนประชากร จะได้ส.ส.เกือบ 6 ที่นั่ง โดยคิดจากฐานส.ส.33 คน”


นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคปชป. ที่ดูแลพื้นที่กทม ได้สรุปให้คณะกรรมการบริหารพรรคฟัง ถึงสถานการณ์และปัญหา เพื่อจะนำไปเป็นยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งส.ส.ต่อไป ซึ่งการเลือกตั้งทั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.ถือเป็นการซ้อมสนามใหญ่ และทำให้รู้ถึงจุดอ่อนและจุดแข็ง


คนกรุงยังไม่ทิ้งปชป. 


ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรค ปชป. พอใจภาพรวมผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. เพราะได้คะแนนมาเป็นอับดับ 2 และ ส.ก.ได้ถึง 9 คน มองว่าเป็นช่วง “ขาขึ้น” ของพรรค เพราะการเลือกตั้งซ่อม ทั้งจังหวัดสงขลา ชุมพร และ ราชบุรี ก็ได้รับชัยชนะ 


“การเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ ลบคำปรามาส ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์ ในกทม. แต่เห็นได้ชัดเจนว่า คนกรุงเทพฯ ยังให้โอกาส และ คนกรุงเทพฯ ยังไม่ทิ้งพรรคประชาธิปัตย์”


สำหรับอนาคตทางการเมืองของ นายสุชัชชวีร์ นั้น เบื้องต้นคุยกันแล้ว จะให้มาช่วยงานพรรค ในด้านที่สนใจ ซึ่งนายสุชัชวีร์ ก็ตอบรับช่วยงาน แต่ยังไม่ลงรายละเอียดว่าจะมาทำด้านไหน เพราะเพิ่งเลือกตั้งเสร็จ ส่วนจะสนับสนุนให้สงสมัคร ส.ส.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของนายสุชัชวีร์


ส่วนที่หลายคนมองว่าคะแนนการเลือกตั้ง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ได้น้อยกว่าคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมานั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งกทม. ไม่ใช่ส.ส. แต่มองว่าอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งสนามใหญ่ก็ได้ แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แต่หลายครั้งก็สะท้อนตรงกันข้ามกัน ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ขณะนี้ผู้สมัครส.ส.กทม.ของพรรค ได้เตรียมความพร้อมเอาไว้เกือบครบแล้ว