วันที่ 26 พฤษภาคม ที่รัฐสภา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(รมช.มท.) ตอบกระทู้ถามสดของนายนราพัฒน์ แก้วทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ถึงแนวทางการแก้ปัญหาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) พร้อมแจงความคืบหน้าแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ หรือ One Map ว่า ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างจะสามารถบังคับใช้ได้เมื่อไหร่
โดยนายนิพนธ์ ชี้แจงว่า รัฐบาลโดยกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562-2565 ไปแล้ว 287,714 แปลง จำนวน 684,209 ไร่
ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนของประชาชนนั้น ที่ประชุมครม.เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และรับรองเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ กลุ่มจังหวัดที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด
การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินฯ ดังกล่าว เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนของหน่วยงานรัฐ 5 กระทรวง 9 หน่วยงาน คือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง กรมพัฒนาที่ดิน กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และใช้มาตราส่วนในแผนที่แนบท้ายกฎหมายแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องประชุมหารือกันต่อไป
ส่วนกลุ่มที่เหลือรัฐบาลจะเร่งรัดดำเนินการต่อไปในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่เป็น 1 ใน 5 กระทรวง ได้สนับสนุนและพยายามที่จะเร่งรัดในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวง เช่น การเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน การออกหนังสือสำคัญที่หลวงในที่ดินสาธารณะ ทั้งนี้ได้กำชับในการประชุมกระทรวงทุกครั้งอย่างต่อเนื่อง ในการเร่งรัดขึ้นทะเบียนหนังสือสำคัญที่หลวง (นสล.) ให้เรียบร้อย
ส่วนการดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) นั้น รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนมาโดยตลอด
รวมถึงการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำที่ดินของรัฐ ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ราชพัสดุ ที่เสื่อมโทรมแล้วมาจัดให้กับประชาชนผู้ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกิน หรือ ที่อยู่อาศัย โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์
แต่เป็นการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเป็นกลุ่มหรือชุมชนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คทช. กำหนดในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนร่วมกันบริหารจัดการที่ดินที่ได้รับการจัดที่ดิน
โดยที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการจัดที่ดินดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 326 พื้นที่ 67 จังหวัด 73,146 ราย 89,717แปลง เนื้อที่กว่า 497,817 ไร่
จากนั้น นายนิพนธ์ ได้รับมอบหมายจาก รมว.มหาดไทย ให้ตอบกระทู้แยกเฉพาะของ นางอนุรักษ์ บุญศล ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ถึงการขอเอกสารสิทธิในพื้นที่หัวไร่ปลายนา ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
โดยนายนิพนธ์ ชี้แจงว่า พื้นที่ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร บางส่วนอยู่ในเขตที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2541 และ พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ยังมีอาณาเขตคาบเกี่ยวเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าดงพันนาและป่าดงพระเจ้า” ซึ่งเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน
ที่ผ่านมาได้รับแจ้งจากประชาชนจากโครงการบอกดิน 2 กรมที่ดิน จึงได้เข้าไปทำระวางที่ดินก่อนที่จะออกไปเดินสำรวจออกโฉนดให้กับพี่น้องประชาชนได้ทั้งหมด 2 ระวางที่จะสามารถออกโฉนดที่ดินได้ ฉะนั้น ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ที่ดินของประชาชนที่อยู่ในระวางนี้ก็จะสามารถเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินได้
ขณะนี้กรมที่ดินจัดทำโครงการรับแจ้งข้อมูลตำแหน่งที่ดินทุกประเภทที่ยังไม่มีโฉนดที่ดิน ผ่านสมาร์ทโฟนโดยใช้ชื่อว่า “บอกดิน 3” โดยจะรับแจ้งข้อมูลระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 มิถุนายน 2565 โดยจะนำข้อมูลตำแหน่งที่ดินที่แจ้งไปตรวจสอบเบื้องต้นสำหรับใช้ในการจัดทำแผนงานด้านการบริหารจัดการที่ดินของรัฐต่อไป
ต่อมา รมช.มหาดไทย ได้รับมอบหมายจาก รมว.มท.ให้ตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะของ นางบุญรื่น ศรีธเรศ ส.ส .พรรคเพื่อไทย จังหวัดกาฬสินธุ์ เรื่อง ไม่มีงบประมาณในการสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า และจะมีวิธีการเปลี่ยนแปลง ปรับโครงสร้าง โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้หรือไม่
กรณีนี้ นายนิพนธ์ กล่าวชี้แจงว่า สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ห้วยแสนหมอยา อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นการก่อสร้างโดยใช้งบประมาณจังหวัดตามแผนปฎิบัติราชการเมื่อปีพ.ศ. 2555 วัตถุประสงค์คือ แก้ปัญหาน้ำท่วมจากการตรวจสอบพบว่าทั้ง 3 แห่งไม่สามารถใช้งานได้ จำนวน 2 แห่งถูกขโมยหม้อแปลง สายไฟฟ้าไป
จึงได้มอบหมายให้สนง.ปภ.จังหวัดกาพสินธุ์ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 3 แห่ง ในพื้นที่อำเภอกมลาไสย จัดงบประมาณการค่าซ่อมแชมสถานีสูบน้ำ โดยให้สามารถใช้ประโยชน์ในการสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ด้วย
และเมื่อดำเนินการช่อมแซมสถานีสูบน้ำทั้ง 3 แห่ง ในพื้นที่อำเภอกมลาไสย เรียบร้อยแล้ว ให้นำเข้าที่ประชุมจังหวัดเพื่อพิจารณาถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในดูแลบำรุงรักษา ดูแลป้องกันการลักขโมยวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ของสถานีสูบน้ำดังกล่าว
สำหรับสถานีสูบน้ำที่มีอุปกรณ์สูญหาย ให้ทางจังหวัดกาฬสินธุ์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนต่อไป ส่วนจะมีวิธีการเปลี่ยนแปลง ปรับโครงสร้าง โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้หรือไม่ การใช้ระบบไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จะต้องมี ระบบโซลาร์เซลล์ ได้มีการหารือกับ สำนักงานพลังงานจังหวัดกาฬสินธุ์แล้ว ปรากฏว่า ระบบดังกล่าวขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ซึ่งไม่มีความแน่นอน หากกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ อาจจะทำให้การกำลังสูบไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีแนวทางปรับมาใช้เป็นพลังงานแสงอาทิตย์