“พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ได้ข้อสรุปแล้วว่า ในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ซักฟอก) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 (มีลงมติ) ในวันพุธที่ 15 มิ.ย.2565 นี้ จะยื่นอภิปรายทั้งหมด 10 คน ประกอบด้วย
พรรคพลังประชารัฐ 6 คน 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 3.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 4.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน 5.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง
พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน 7.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ 8.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์
พรรคภูมิใจไทย 2 คน 9.นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข 10.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
ชู“เด็ดหัว สอยนั่งร้าน”
สำหรับพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ที่ร่วมแถลงข่าวเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน
นพ.ชลน่าน แถลงว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติร่วมกันว่าจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นรายบุคคล ในเวลา 10.00 น. วันที่ 15 มิ.ย.นี้ โดยเรียกการอภิปรายครั้งนี้ว่าเป็นยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน”
ดังนั้น จะเป็นการอภิปรายเด็ดหัวนายกรัฐมนตรี และครม.เป็นรายบุคคล ในประเด็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดพลาดล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและมาตรฐานจริยธรรม ส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา หรือ เรื่องที่ฝ่ายค้านเคยอภิปรายทักท้วงไว้ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
“ในกรอบ 6 เรื่องนี้ เรามั่นใจในข้อมูลจาก 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน บวกกับพรรคไทยศรีวิไลย์ที่จะมาร่วมอภิปรายด้วย”
ส่วนการอภิปรายครั้งนี้จะส่งผลให้ล้มรัฐบาลได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พิจารณาจากข้อกล่าวหาในประเด็นทุจริตทำผิดกฎหมายเรามั่นใจ เพราะเป็นข้อกล่าวหาที่ชี้ชัดลงไป เรามีใบเสร็จทางการเมืองที่จะชี้ให้เห็นจึงมีความมั่นใจ โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่ทำผิดต่อกฎหมาย ส่วนนายกฯ จะเป็นผลพวงจากหน้าที่ที่ท่านกำกับดูแล
“ยืนยันว่า เสียงของฝ่ายค้านเหนียวแน่น แม้ว่าอาจแปรปรวนไปบ้างจากการลงมติที่ผ่านมา แต่เราไม่เคยนับคนกลุ่มนั้นว่าอยู่ในกลุ่มฝ่ายค้านอยู่แล้ว”
ผู้สื่อข่าวถามว่าการจะล้มรัฐบาลได้จะต้องมีพลังที่ไม่ใช่จากพรรคฝ่ายค้านอย่างเดียวใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราต้องมีสมาชิก และพรรคที่เห็นพ้องกับเรา ว่าข้อกล่าวหาที่เราตั้งเป็นสิ่งที่เขายอมรับ และไว้วางใจไม่ได้ ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ที่เขาจะตัดสินใจ
ส่วนที่วุฒิสภาจะยื่นเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ จะเป็นการฟอกขาวรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าส.ว.เข้าชื่อยื่นได้ แต่เป็นการให้ครม.มาแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ถือเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ถ้านอกเหนือจากนี้ ก็อาจเข้าข่ายฟอกขาวได้
“เราต้องเฝ้าดูเนื้อหาสาระในญัตติของส.ว. เพราะตามรัฐธรรมนูญเขามีสิทธิ์ยื่นได้ พร้อมกับดูพฤติกรรมในการอภิปราย ถ้าไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่มาแถลงผลงานหรือมาตอบผลสัมฤทธิ์ ก็เข้าข่ายว่าน่าจะไม่ชอบตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ใช้วุฒิสภาในการฟอกขาว ซึ่งประชาชนจะจับตาดู”
“3 ป."โดนครบทุกคน
ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงการอภิปรายครม. ว่า หัวมี 1 คน ส่วนนั่งร้านมาจาก 3 พรรค คือ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมนั่งร้าน 9 คน รวมกับหัวด้วยก็เป็น 10 คน ซึ่ง “3 ป.” โดนครบทุกคน เพราะเป็นเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ ขณะที่กรอบระยะเวลาการอภิปราย คาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 4 วัน
ส่วนใครจะถูกอภิปรายเรื่องใดนั้น ยังไม่มีความชัดเจน เพราะเป็นการเสนอชื่อมาจากแต่ละพรรค ซึ่งแต่ละพรรคยังอุบไต๋ไม่บอกข้อกล่าวหาของแต่ละคน
และสาเหตุที่อภิปรายรัฐมนตรีมากถึง 10 คน เพราะครั้งนี้ถือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย และที่ใช้ชื่อยุทธการว่า “เด็ดหัว นั่งร้าน” เพราะมุ่งอภิปรายไปที่หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ของพรรคที่เป็นแกนนำในซีกรัฐบาลเป็นหลัก
โค่น“บิ๊กตู่”ยาก
ก่อนหน้านี้ นายสุทิน เคยบอกว่า “ฝ่ายค้านไม่หวังพึ่งมือใครในสภาฯ เพราะมีคนที่เป็นขาออก และขาเข้า คือ คนจากฝ่ายค้านที่เตรียมจะย้ายพรรค ขณะที่คนจากพรรครัฐบาลเตรียมย้ายเข้า ดังนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านจะใช้เวทีทำหน้าที่ให้เต็มที่"
เสมือนยอมรับกลายๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านเสียงแตก และความคาดหวังให้ได้ “เสียงไม่ไว้วางใจ” มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่ที่อยู่ ซึ่งปัจจุบันมีส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ 477 คน ดังนั้น เสียงที่จะไล่นายกฯ และรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งได้ ต้องไม่ไว้วางใจ 240 เสียงขึ้นไป
แต่หากดูผลจากการลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ที่ฝ่ายค้านผนึกเสียงไม่รับหลักการได้แค่ 195 เสียง จากส.ส.ที่มี 208 เสียง และพบ “งูเห่า” โผล่อีก 12 เสียง
โอกาสที่จะหาเสียงให้ได้ 240 เสียง เพื่อโค่น พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีถือว่ายากมาก
ดังนั้น “ศึกซักฟอก” ครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 4 นับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ที่มาจากระบบเลือกตั้ง ก็ “รอด” มาได้ทุกครั้ง ครั้งนี้ก็คงไม่มีอะไรระคายผิวได้
รูปการณ์จึงน่าจะออกมาในลักษณะ “ฝ่ายค้าน” ได้แต่ “ด่า” เพื่อดิสเครดิต แต่โค่นล้ม “รัฐบาลบิ๊กตู่” ไม่ได้
"นิโรธ"มั่นใจผ่านฉลุยศึกซักฟอก
นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จำนวน 10 คน โดยมีชื่อของ “ 3 ป.” รวมอยู่ด้วย ว่า ตนเชื่อมั่นว่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ทราบดีอยู่แล้วว่าได้ทำงานอะไรไปบ้าง ซึ่งเรื่องที่ระมัดระวังมากที่สุด คือ การทุจริต และพร้อมรับฟังเสียงท้วงติงในการทำงาน
ส่วนความมั่นใจว่าจะสามารถคุมเสียงเพื่อรักษาเก้าอี้รัฐมนตรีได้หรือไม่ นายนิโรธ กล่าวว่า ดูจากการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วาระแรก ที่ผ่านมา ก็น่าจะทราบว่าผลออกมาอย่างไร
“เราไม่จำเป็นต้องมาประสานเสียงโชว์ ไม่ต้องมาตีปี๊บอะไร ยืนยันพรรคร่วมรัฐบาลยังมั่นคงแข็งแรงอยู่และจับมือกันเหนียวแน่น เพราะฉะนั้นเสียงของรัฐบาลไม่มีอะไรน่ากังวล”
เมื่อถามย้ำว่าคิดว่าจะมีเสียงเท่าไหร่ดูแลรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายได้ นายนิโรธ กล่าวว่า เหมือนเดิม แต่อาจจะเซอร์ไพร์สมากกว่าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ก็ขอให้รอดู และมองว่าการกระทำของฝ่ายค้านเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและควรให้เกียรติผู้นำของแต่ละพรรค เรายังไม่เคยไปกล่าวหาว่าอะไรหัวหน้าพรรคเขาเลย