“สมคิด”ชำแหละประชาธิปไตยแบบ“แจกกล้วย”ไม่อายฟ้าดิน หวังเพื่อแสวงประโยชน์

27 มิ.ย. 2565 | 06:46 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2565 | 15:14 น.

“สมคิด” ปาฐกถา “88 ปี ธรรมศาสตร์กับสังคมไทย” ชำแหละประชาธิปไตยแบบ “แจกกล้วย” ไม่อายฟ้าดิน แสวงประโยชน์ทางการเมือง แนะต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยเป็นของปวงชนไม่ใช่ของ “กลุ่มการเมือง” ไม่กี่กลุ่ม หรือ “ครอบครัว” ไม่กี่ตระกูล

วันนี้ (27 มิ.ย.65) ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ได้จัดงานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 88 ปี โดยมีพิธีมอบเข็มเกียรติยศประจำปี 2565 แด่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ โดย นายสมคิด รับมอบจากศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    

 
 โอกาสนี้ นายสมคิด ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “88 ปี ธรรมศาสตร์กับสังคมไทย” ระบุว่า 
ต้องขอขอบพระคุณทางมหาวิทยาลัยที่ได้มีมติมอบเข็มเกียรติยศประจำปี2565 ให้กับกระผม ถือเป็นเกียรติยศแห่งชีวิตที่สูงยิ่งและมีความหมายกับผมเป็นอย่างมาก เพราะแม้ตลอดชีวิตการทำงาน จะไม่เคยหวังสิ่งตอบแทนใดๆ แต่นี่เป็นสิ่งที่สถาบันศึกษาที่สร้างเราขึ้นมาเป็นผู้มอบให้ มันจึงมีความหมายอย่างยิ่ง

อีกไม่กี่วันข้างหน้า ผมก็จะมีอายุครบ 69 ปีแล้ว เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตล้วนหมดไปกับหน้าที่การงาน 15 ปีกับชีวิตการเป็นอาจารย์ กว่า 20 ปีบนเส้นทางชีวิตการเมือง และกว่า 10 ปีที่อยู่ในตำแหน่งในรัฐบาล นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานพอควรเลยทีเดียว 

                                       

เคยมีคนถามผมเหมือนกันว่า ทำไมจึงได้เลือกเดินเส้นทางนี้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีความสนใจในการเมืองมาก่อนเลย คำตอบก็คือ ผมไม่ได้ตั้งใจเลือก แต่เสมือนมีบางสิ่งชี้นำและผลักดันให้ชีวิตเดินบนเส้นทางนี้มาโดยตลอด และสิ่งชี้นำนี้มาจากสิ่งอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากประสบการณ์ชีวิต 4 ปีเต็มในรั้วธรรมศาสตร์

ผมเข้าธรรมศาสตร์ ปี 2516 จบปี 2519 เป็นช่วงเวลาที่ธรรมศาสตร์ เต็มเปี่ยมไปด้วยความตื่นตัวทางการเมือง ไม่ใช่เพียงแค่นักศึกษา แต่ยังรวมถึงมวลหมู่คณาจารย์ด้วย เกือบทุกวันเมื่อท่านเดินเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ก็จะมีประเด็นข่าวสารบ้านเมืองให้ท่านรับรู้เสมอ บ้างถูกติดให้อ่านบนกำแพง บ้างจากใบปลิวที่มีเพื่อนนักศึกษา หรือ อาจารย์บางท่านที่ยืนแจก 
โดยเฉพาะประตูท่าพระจันทร์

 

การจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยคึกคักยิ่งทั้งงานอภิปราย งานประชุมสัมมนามีให้เห็นเป็นประจำ ซึ่งเปิดกว้างให้คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนนักศึกษาและภาคประชาชนได้เข้าร่วมอย่างกว้างขวาง ในการวิเคราะห์ วิพากษ์และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองในขณะนั้น 

                                      “สมคิด”ชำแหละประชาธิปไตยแบบ“แจกกล้วย”ไม่อายฟ้าดิน หวังเพื่อแสวงประโยชน์
การออกค่ายของนักศึกษาเพื่อไปเรียนรู้สภาพปัญหาที่แท้จริงในชนบทแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนักศึกษาในสมัยนั้น บ่อยครั้งที่ท่านจะเห็นกลุ่มชาวนาและกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาพบปะกันในมหาวิทยาลัย เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระบายปัญหาและความยากลำบากของเขาให้นักศึกษาได้รับรู้ 

 

บรรยากาศเหล่านั้นในช่วงชีวิต  4 ปี ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ล้วนช่วยให้นักศึกษาในยุคนั้น มีความตระหนักรู้ในความเป็นจริงของบ้านเมือง ตื่นตัว มีความคิดอ่านเกินวัยในมิติของบ้านเมือง มีแรงบันดาลใจ และจิตสำนึกร่วมสูงยิ่ง ที่จะรับใช้สังคม 

 

ยิ่งเมื่อพวกเขาได้ร่วมชุมนุมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในช่วง 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ซึ่งส่วนใหญ่ของนักศึกษาในขณะนั้น ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยจิตบริสุทธิ์ ก็ยิ่งทำให้จิตสำนึกร่วมนั้นมั่นคงยิ่งนัก

 

เป็นจิตวิญญาณที่ถูกปลูกฝังในจิตใจและมีอิทธิพลโน้มนำความคิด ทัศนคติ แนวทางการดำเนินชีวิต และการประพฤฒิปฏิบัติของชาวธรรมศาสตร์ในยุคนั้นในหลากหลายบทบาทที่แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมที่เหมือนกัน คือ จิตสาธารณะที่คำนึงถึงประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ

 

มาถึงวันนี้ธรรมศาสตร์ก้าวมาถึงปีที่ 88 แล้ว บางยุคบางสมัย บริบทในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น สุกงอมสมบูรณ์ และเข้มข้น จนสามารถสร้างบุคลากรที่มีความมุ่งมั่น และแรงบันดาลใจ ที่ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมภายนอก 

 

บางยุคบางสมัยเงื่อนไขในบริบทนั้น ก็อาจเบาบางลงไปบ้าง ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดทางสังคมและการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย นั่นเป็นเรื่องปกติของความเป็นอนิจจัง มีศิษย์เก่าธรรมศาสตร์บางท่านถึงกับกล่าวอย่างสะท้อนใจว่า จิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้นหายไปไหน คงเหลือแต่คำเล่าขานแล้วกระมัง แต่ผมนั้นไม่เห็นด้วย กลับมั่นใจว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้น ไม่ได้หายไปไหน และพร้อมจะกลับมาลุกโชนใหม่ได้เสมอ 

 

ท่านผู้มีเกียรติครับ จิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้น เป็นผลพวงของบริบทอันเป็นเบ้าหลอมในรั้วมหาวิทยาลัย กับความมุ่งมั่นและจิตสำนึกของคนธรรมศาสตร์  และผมเชื่อว่าบริบทอันเป็นเบ้าหลอมนั้น ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง แต่สามารถปรับปรุงให้มีองค์ประกอบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับกาลสมัย และความต้องการของคนในแต่ละรุ่น 

 

และเมื่อใดก็ตามที่มหาวิทยาลัยสามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษากลับมาตื่นตัว สนใจในประเด็นสาธารณะ ที่พวกเขาเห็นว่า สำคัญยิ่งสำหรับอนาคตของพวกเขา และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงออกซึ่งความคิดของเขา โดยที่สังคมพร้อมรับฟั งและ respect ในความคิดของพวกเขา ว่าพวกเขาคิดอย่างไรที่จะแก้ปัญหา และจะสร้างอนาคตบ้านเมืองของพวกเขาอย่างไร  ความกระตือรือร้น แรงบันดาลใจ และจิตวิญญาณที่จะสร้างประโยชน์ให้สาธารณะจะกลับมาลุกโชน 

 

ท่านผู้มีเกียรติครับ บริบทบ้านเมืองในอดีต หล่อหลอมให้จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ เน้นหนักในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นเสรี และการต่อสู้นั้น ก็กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อมารุ่นต่อรุ่น 

 

แต่หากเรามองไปข้างหน้า กับปัญหาใหม่ๆ ที่บ้านเมืองกำลังเผชิญ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้จะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น แต่คงไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอเสียแล้วกับการที่จะช่วยให้ลูกหลานของเราได้มาซึ่งอนาคตที่ดีกว่า 

 

เพราะแม้แต่ประชาธิปไตยที่ชาวธรรมศาสตร์ พยายามต่อสู้มาตลอด 88 ปี ผมว่า ชาวธรรมศาสตร์คงจินตนาการไปไม่ถึง และคงไม่ต้องการเห็นประชาธิปไตย ในversion "แจกกล้วย" เป็นหวีอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่อายฟ้าดินอย่างที่เป็นข่าว และถูกใช้เพียงเพื่อเป็นเกราะในการแสวงประโยชน์ทางการเมือง 

 

และชาวธรรมศาสตร์คงไม่ต้องการให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ที่เพียงเอื้ออำนวยให้คนเพียง 1% แต่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ของประเทศมากกว่า 60% ในขณะที่คนไทย 99% เป็นเจ้าของสินทรัพย์เพียงกว่า 30 เปอร์เซ็นเท่านั้น หรือประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบให้สร้างความไม่เท่าเทียมทางการเมือง ซึ่งวันหนึ่งอาจนำไปสู่วิกฤติการการเมืองครั้งใหญ่ได้ หรือเราจะพอใจกับประชาธิปไตยแบบนี้

 

แต่เด็กรุ่นใหม่นั้น เขารับไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีไฟ แต่เขาไม่สนใจหรอกที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาคิดว่าไม่ใช่  เขาจะหันหลังให้เสียด้วยซ้ำ แต่พวกเขาจะกลับมามีความกระตือรือร้น หากเป็นการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เขาต้องการ 

 

ผมเคยถามคนรุ่นใหม่ เขาเรียกประชาธิปไตยที่เขาเห็นตั้งแต่เล็กจนโตว่า 4 second democracy แค่ 4 นาทีที่คุณหย่อนบัตร หลังจากนั้นก็หมดไป แต่เขาต้องการสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า deliberative democracy ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น ได้ร่วมถกแถลงในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ หาข้อสรุปเพื่อโน้มน้าวกลุ่มผู้เห็นต่าง นั่นแหละคือสิ่งที่จะทำให้พวกเขาจะมีแรงบันดาลใจในการต่อสู้และเข้าร่วมอย่างแข็งขัน 

 

เราต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไร ให้ไปถึงจุดนั้น จุดที่ประชาธิปไตยเป็นของปวงชนไม่ใช่ของกลุ่มการเมืองไม่กี่กลุ่ม หรือครอบครัวไม่กี่ตระกูล

 

แต่ที่สำคัญที่ผมต้องการจะบอก ก็คือ ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่มิติเดียวที่เราอยากให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้าไปต่อสู้ หรือ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน แต่ยังมีอีกหลายมิติที่พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญอันยิ่งใหญ่ ในการสร้างกระแสคลื่นแห่งการขับเคลื่อน เพื่อแก้ไขและสร้างอนาคตที่ดีกว่าเพื่อพวกเขาเอง


อาทิ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่นับวันจะมีผลกระทบต่อชีวิตของลูกหลานไทยอย่างรุนแรง และพวกเขาต้องเผชิญกับมันในอนาคต หรือในทางเศรษฐกิจ ในยามที่เศรษฐกิจโลกกำลังมีปัญหาและจะรุนแรงขึ้น ทั้งภาวะชะงักชะงันและการทะยานของระดับราคา


โครงสร้างเศรษฐกิจบ้านเราที่อิงหนักมาก กับปัจจัยภายนอก ไม่ว่าส่งออก ท่องเที่ยว หรือ การลงทุนจากต่างประเทศ ย่อมจะถูกกระทบแน่นอน และจะส่งผลถึงการเติบโตและการสร้างรายได้ของคนในประเทศ หากเรายังไม่เร่งดำเนินรอยตามคำสอนของในหลวงท่านที่ให้ระเบิดจากภายใน นั่นคือ สร้างความเข้มแข็งกับเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้เกิดการขยายตัว สร้างงานสร้างรายได้ควบคู่การอาศัยแรงหนุนจากภายนอก การเปลี่ยนแปลงโหมดแห่งการพัฒนา ต้องการพลังที่ยิ่งใหญ่เข้าไปช่วยขับเคลื่อนในภาคชนบท และขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการ 


ดัชนีความสามารถแข่งขันของประเทศที่ลดลงแบบฮวบฮาบอย่างไม่เคยปรากฏ ที่ความสามารถด้านเศรษฐกิจจะลดลงทีเดียว 13 จุด ประสิทธิภาพรัฐบาลลดฮวบปีเดียวถึง 11 จุด ขณะที่ประสิทธิภาพภาคเอกชนลดลงถึง 9 จุด สะท้อนความเป็นจริงว่า เราอ่อนแอลงแค่ไหนในเวลาอันสั้น ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปไม่มีใครสนใจ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้จะส่งผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศแน่นอน ในระยะเวลาอันใกล้ แต่ที่หนักที่สุดก็คือ ปัญหาความไม่เท่าเทียม เหมือนระเบิดที่รอเวลาเท่านั้น

                                 “สมคิด”ชำแหละประชาธิปไตยแบบ“แจกกล้วย”ไม่อายฟ้าดิน หวังเพื่อแสวงประโยชน์
จากสถานภาพที่ยากลำบากในการดำรงชีพ และหนี้สินที่เพิ่มทวีของประชาชนหลังการแพร่ระบาดของโควิด ประชาชนในระดับชนชั้นกลาง และในระดับฐานรากของประเทศ ตกอยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคง และสุ่มเสี่ยงต่อสถานะการดำรงชีพในอนาคต โดยที่ไม่มีหลักประกัน เกษตรกรและเกษตรกรรมของประเทศ กำลังเผชิญกับความผันผวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของสภาวะอากาศและภัยธรรมชาติที่หนักขึ้นทุกปี อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน 


แรงงานทั้งระบบกำลังเผชิญความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง คือ การถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI และหุ่นยนตร์ ในขณะที่การเตรียมการเพื่อการเปลี่ยนผ่านยังไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอ 
ปัญหาเหล่านี้ทุกคนทราบ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองที่เพียงพอทั้งๆ ที่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศเริ่มเผชิญกับมันแล้ว นี่ยังไม่นับความไม่เท่าเทียมด้านสังคมอื่นๆ ทั้ง การศึกษา สาธารณสุข การเข้าถึงเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล รวมไปถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศและผู้ด้อยโอกาสที่รอรับการดูแลแก้ไข


ท่านผู้มีเกียรติครับ 


ภารกิจและบทบาทหน้าที่จะแก้ไขนั้นเป็นของใคร ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ขนาดนี้ สั่งสมนานขนาดนี้ รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยแบบ 4 วินาที ที่เห็นนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก เพราะข้อจำกัดมันมาก แล้วถ้าทำไม่ได้ ประชาชนนั่นแหละคือ ผู้รับเคราะห์ 


ในเมื่อบริบถยังมีปัญหาอยู่ เราจะมัวรอภาครัฐอยู่คงไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันแก้ไข และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันศึกษา ที่จากนี้ไปจะไม่สามารถอยู่อย่างแยกส่วนกับปัญหาบ้านเมืองได้อีกแล้ว สถาบันศึกษาเป็นบ่อเกิดของความรู้และปัญญา ทรัพยากรจึงต้องจัดสรรและขับเคลื่อน ให้ได้ปัญญาที่แท้จริง ที่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ 


การแสวงหาความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับโลก เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าขาดความสนใจสร้างปัญญา และใช้ปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นจริงในบ้านเรา ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ยิ่งกว่านั้น สถาบันการศึกษายังเป็นแหล่งผลิตบุคลากรในหลากหลายสาขา สถาบันศึกษาต้องไม่ใช่เพียงการรับเด็กนักศึกษาและสอนเด็กให้จบออกไปใน 4 ปี เพื่อประกอบอาชีพทำมาหากินเท่านั้น


แต่จะต้องตระเตรียมสร้างบุคลากรในสาขาที่บ้านเมืองต้องการ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้  ที่สำคัญที่สุด ต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการปลูกฝังจิตสำนึกและแรงบันดาลใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนแก้ไขและกอบกู้ในหลากหลายมิติ


สถาบันศึกษาสามารถกระตุ้นส่งเสริมและปลูกฝังให้นักศึกษา เป็นผู้นำในบทบาทแห่งการขับเคลื่อนได้เลยตั้งแต่พวกยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และต้องให้จิตวิญญาณนี้แพร่ขยายออกไปให้สังคม สร้างความตื่นตัวและร่วมมือในวงกว้าง คู่ขนานไปกับบทบาทภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว นี่คือบทบาทของธรรมศาสตร์และจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ที่จะต้องก้าวนำการข้บเคลื่อนเปลี่ยนแปลงปฏิรูปบ้านเมืองในยุคข้างหน้า เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้คนไทย


ขอบคุณอีกครั้งนะครับกับเกียรติยศที่ให้กับผมในวันนี้ครับ