ปิดฉากคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ฟันอาญา "ทนง-กวีพันธ์" กนก อภิรดี ผิดวินัยร้ายแรง

18 ก.ค. 2565 | 09:24 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2565 | 16:53 น.

ปิดฉาก “คดีสินบนโรลส์รอยซ์” ป.ป.ช.ฟันอาญา “ทนง พิทยะ-กวีพันธ์ เรืองผกา” ส่วน “กนก อภิรดี” ผิดวินัยร้ายแรง ที่เหลือผิดวินัยไม่ร้ายแรง บางรายรอด

คดีสินบนโรลส์รอยซ์ ได้มาถึงบทสรุปแล้ว โดยวันนี้ (18 ก.ค.565) สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการพิจารณาสำนวนไต่สวน กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากบริษัท โรลส์รอยซ์ฯ ผู้นำเข้าเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing 777-200ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 รวมความเสียหายประมาณ 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ คิดเป็นไทยราว 254 ล้านบาท โดยมีการกล่าวหากลุ่มอดีตคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย จำนวน 10 ราย


รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 6 ต่อ 2 เสียง ชี้มูลความผิดแก่ นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการบินไทย และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท และ นายกวีพันธ์ เรืองผกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายบริหารงานนโยบายการบินไทย โดยทั้ง 2 ราย มีความผิดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502  จำนวน 2 มาตรา ได้แก่ 

มาตรา 8 ระบุว่า ผู้ใดเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัดห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท 


มาตรา 11 ระบุผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ดี มาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขาดอายุความในคดีนี้ไปแล้ว ดังนั้นจึงเหลือแค่ความผิดตาม มาตรา 8 คือ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท 


ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือ เช่น นายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ฝ่ายบริหารงานนโยบาย และรองประธานอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย มีความผิดทางวินัยร้ายแรง 


อย่างไรก็ตาม นายกนก เกษียณอายุราชการไปนานแล้ว ส่วนผู้ถูกกล่าวหารายอื่น ๆ มีทั้งผิดวินัยไม่ร้ายแรง และบางรายพ้นข้อกล่าวหา 


สำนักข่าวอิศรา อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวอีกว่า กรรมการ ป.ป.ช. 2 เสียงข้างน้อย คือ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์  และ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เห็นว่า นายทนง พิทยะ มีความผิดเฉพาะมาตรา 11 ในการพิจารณาสำนวนไต่สวนคดีนี้ โดยการกระทำความผิดตามมาตรา 11 ขาดอายุความไปแล้ว ดังนั้นความเห็นเสียงข้างน้อยของกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 2 ราย จึงไม่มีผลอะไร 

 

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดในคดีนี้ เดิมมี 11 ราย ได้แก่ 

 

นายทนง พิทยะ 


นายศรีสุข จันทรางศุ 


นายกนก อภิรดี 


นายกอบชัย ศรีวิลาศ 


นายทัศนัย สุทัศน์ ณ อยุธยา 


นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ 


นายกวีพันธ์ เรืองผกา 


เรืออากาศโท วีรชัย ศรีภา 

 

นาวาอากาศโท ศุภชัย ลิมปสวัสดิ์ 


เรืออากาศโทชินวุฒิ นเรศเสนีย์ 


นายชาญชัย สิงห์โตโรจน์ 


ปัจจุบัน นายศรีสุข จันทรางศุ ถึงแก่ความตายไปแล้ว ทำให้ต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ


ทั้งนี้การชี้มูลความผิดทางคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และมีสิทธิ์ต่อสู้คดีในชั้นอัยการ และชั้นศาลต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้เกิดขึ้นภายหลังที่บริษัท โรลส์รอยซ์ฯ ให้การยอมรับต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) ว่า มีการจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2534-2548 รวม 3 ครั้ง วงเงินรวมประมาณ 1.2 พันล้านบาท เพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบิน และเครื่องยนต์จากบริษัท โรลส์-รอยซ์ 


หลังจากนั้นช่วงปี 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาเบื้องต้น 26 ราย ทั้งฝ่ายการเมือง บอร์ดบริษัทการบินไทย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวบริษัทการบินไทย โดยมีพฤติการณ์ถูกกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER พร้อมเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งเครื่องบิน และการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 จำนวน 6 ลำ เพิ่มเติมรวม 7 เครื่อง จากบริษัทโรลส์-รอยซ์

ทั้งหมดมีหน้าที่ทำ และจัดการเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์ดังกล่าว ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินให้แก่การบินไทย 


โดยนอกเหนือจากกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวนแล้ว ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกร่วมเป็นองค์คณะไต่สวนด้วย ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อธิบดีอัยการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นต้น