วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า ให้ความเห็นถึงการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ว่า พรรคกล้าหนุนการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น เพื่อปลดล็อการบริหารแบบกระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง ไม่ตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดท่องเที่ยวอย่าง ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ฯลฯ ที่มีของดีมากมายทั้ง ภูเขา ทะเล ธรรมชาติที่สวยงาม มรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็น ซอฟท์พาวเวอร์ ที่ทรงพลังและถูกใช้กับการท่องเที่ยว ทำรายได้ให้ประเทศมาโดยตลอด ถึงเวลาแล้วที่จังหวัดเหล่านี้ ต้องสามารถจัดการตัวเอง ต้องกระจายอำนาจในการบริหารงานเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเมือง
โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ภาษีและรายได้ปันส่วนให้ตอบโจทย์กับเนื้องานเพื่อการหารายได้เข้าประเทศอย่างมีระบบ และเพื่อให้ผู้ว่าฯ ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ทั้งงานระบบสาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า ประปา และตำรวจ และที่สำคัญด้วยความที่เป็นเมืองพิเศษ ก็จำเป็นต้องใช้คนที่เข้าใจมาบริหาร ซึ่งก็คือคนในพื้นที่ที่เข้าใจชาวบ้านชุมชน เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด
ด้านนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ หรือ นายกอุ๊ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ทีมเศรษฐกิจพรรคกล้า กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างการบริหารส่วนท้องถิ่นมีระบุไว้ชัดเจน 3 โครสร้าง
1.ท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เทศบาลและ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 2. ฝ่ายครองท้องที่ ได้แก่ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
และ 3. หน่วยงานส่วนกลางคือ กระทรวงมหาดไทย,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาฯลฯ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การกระจายอำนาจแล้วจะไปยุบส่วนกลางไม่ได้ เพราะเขาก็ทำหน้าที่ฝ่ายกำกับนโยบายรวมเหมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ ที่จะต้องมาดูแลจังหวัดที่จะต้องต่อท่อไปยังเส้นเลือดฝอยคือท้องถิ่น ให้บูรณาการทำงานร่วมกันได้เพื่อให้เลือดไหวเวียนอย่างเป็นระบบ แผนท้องถิ่นก็ต้องสอดคล้องกับแผนของจังหวัดและแผนของจังหวัดก็ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ
นายกอุ๊ กล่าวต่อว่า คำว่า”กำกับ”ท้องถิ่นหลายคนอาจไม่ชอบใจเหมือนไม่อิสระ แต่ความจริงมันก็อิสระเพียงแต่ยังไม่ 100% ในบางเรื่องบางประเด็น เช่น การขอใช้พื้นที่ ของหน่วยงานอื่นเช่นชลประทาน คมนาคม โรงเรียน เจ้าท่า หรือของวัดเป็นต้น ที่ยุ่งและทำให้การพัฒนาล่าช้าหลายปีมากๆ
ตัวอย่างที่ชัดเจนของอบต.บ้านใหม่ที่ผมเจอก็คือ การทำถนนเลียบคลองชลประทานหรือทำสะพานข้ามคลองชลประทาน ต้องขออนุญาตชลประทานส่งแบบถนนแบบสะพานโดยละเอียด ใช้เวลาพิจารณาอย่างเร็วที่สุดครึ่งปี
จากนั้นยังต้องไปขอใช้พื้นที่จากธนารักษ์จังหวัดอีกครึ่งปี รวมแล้ว 1 ปีนี่คือไม่มีอะไรติดขัดนะ ถ้าแก้เอกสารด้วยก็ 2 ปี ตนเจอมาแล้ว คิดทำถนนทำสะพานปีนี้ กว่าจะได้ทำอีกสามปี นายกหมดวาระพอดี ไหนจะต้องของบประมาณจากส่วนกลางอีกได้ไม่ได้ก็ยังไม่รู้
นี่คือผลของการไม่กระจายอำนาจทำให้เกิดการถ่วงความเจริญมาก ตามโลกตามความเจริญไม่ทันเป็นอีกปัญหาความยากจนล้าหลังของชาวบ้าน ที่ผมพูดนี่เพราะกำลังเจออยู่ พอดี ความจริงเป็นการหวงอำนาจของหน่วยงานส่วนกลางชัดเจนที่สุด ต้องแก้ไขให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่ตามความต้องการของประชาชน แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเรื่องที่ทำได้แบบทันที
“สำหรับผม ในฐานะที่เป็น นายกฯ อบต. ผมมองว่าการกระจายอำนาจมันมีอยู่แล้วและส่วนตัวผมเองก็มีอำนาจเต็มมีทางที่จะเดินได้ตามภารกิจและกฎหมาย แต่ต้องยอมรับว่าศักยภาพของแต่ละพื้นที่ต่างกัน ถ้าในระดับท้องถิ่น หากมีการเรียกร้องกระจายอำนาจเพิ่มก็ต้องเริ่มจากท้องถิ่นที่พร้อม โดยเฉพาะการโอนย้าย หน่วยงานในสังกัดเดิมเช่น รพ.สต. ย้ายจากกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนย้ายสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการ ไปอยู่กับท้องถิ่น หรืออื่นๆ หลายพื้นที่ทำได้ดี
แต่หลายพื้นที่ก็ยังทำไม่ได้ และทั้ง รพ.สต.หรือโรงเรียนเองก็ยังไม่มั่นใจ ก็ต้องรอความพร้อม ไม่ใช่ว่าไม่มีการกระจายอำนาจ เพียงแต่ยังไม่สมบูรณ์ ส่วนเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในบางพื้นที่ ส่วนตัวมองว่าต้องเริ่มในจังหวัดพิเศษที่มีความพร้อม เพราะกลไกมันเอื้อให้อยู่แล้ว ทุกวันนี้ นายกอบจ.ก็เสมือนเป็นผู้ว่ากลายๆ ที่ทับซ้อนกันอยู่แล้ว แต่ดูแลคนละหน่วยงาน
การเลือกตั้งผู้ว่าทำได้เพียงแต่ต้องระวัง เจ้าพ่อ เจ้าแม่ บ้านใหญ่ กลุ่มอิทธิพล จะได้รับเลือกตั้ง มันจะกลายเป็นติดอาวุธให้โจรแบบครบสมบูรณ์แบบ แล้วบุคลากรมาขึ้นกับเขา จะมีการ ปรับ ลด ปลด ย้าย มันจะไม่มีการคานอำนาจในตัวเอง ดังนั้นการถ่ายโอนอำนาจต้องแยกเป็นเรื่องที่สำคัญก่อน เรื่องอะไรที่หมิ่นเหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องถ่ายโอนมาหรือเลือกทำเท่าที่จำเป็น” นายกอุ๊ กล่าว
นายวัชรพงค์ กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการกระจายอำนาจ มีอยู่ 4 ข้อ คือ 1. ระเบียบข้อกฎหมายที่จะมารองรับภารกิจให้ถูกต้อง ทั้งฝ่าย มอบอำนาจ คือส่วนกลาง กับฝ่ายที่รับการถ่ายโอนอำนาจคือท้องถิ่น
2. เงินพอไหม การถ่ายโอนภารกิจแล้วไม่เอาเงินมาให้ หรือเงินไม่พอ เป็นปัญหาใหญ่ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะแต่ละแห่งท้องถิ่นเก็บภาษีไม่เท่ากัน เป็นความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดปัญหาของการถ่ายโอนอำนาจ ดังนั้นการถ่ายโอนต้องตามมาด้วยโครงสร้างของงบประมาณที่เกลี่ยให้เป็นธรรมอย่างทุกวันนี้กทม.ได้นับงบประมาณมากถึงกว่า50% ของงบประมาณ
3. คน ตั้งแต่นายกท้องถิ่น สภาท้องถิ่น ข้าราชการท้องถิ่น บุคลากรท้องถิ่น รวมถึงประชาชนในท้องถิ่นนั้น มีศักยภาพอะไรบ้าง ความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ความถนัดในเรื่องที่รับถ่ายโอนมา คนท้องถิ่นพร้อมหรือไม่ ถ้ามีเงินแต่ไม่มีความพร้อมก็ลำบาก หรือบางพื้นที่พร้อมแต่ไม่มีเงิน ก็ลำบากเช่นเดียวกัน การให้ความเจริญเติบโตกับบุคลากร ที่ย้ายสังกัดจากส่วนกลางมาท้องถิ่นอันนี้สำคัญ
และ 4.นโยบายภาพรวมของประเทศในมิติความมั่นคง ทางด้านสังคม ความแตกต่างของวัฒนธรรม เช่น จังหวัดชายแดนใต้ ก็อาจจะยังไม่พร้อม