วันนี้ (5 ส.ค.65) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในคืนวันที่ 23 ส.ค.2565 นี้
หากนับตั้งแต่การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ 24 ส.ค.2557 ว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 24 ส.ค.2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ครั้งที่ 2 วันที่ 9 มิ.ย.2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ขณะนี้มีข้อถกเถียงในสังคมต่อเรื่องดังกล่าวเป็น 3 ทาง คือ
แนวทางที่ 1 เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งได้ถึงแค่คืนวันที่ 23 ส.ค.นี้ เพราะไม่มีบทยกเว้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 โดยมองว่าถ้ารัฐธรรมนูญมีเจตนาที่จะไม่ให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะรัฐมนตรีในข้อใดมาบังคับใช้กับคณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องเขียนระบุชัดเจนไว้ในบทเฉพาะกาล
แต่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บัญญัติให้มีการยกเว้นการนำมาตรา 158 วรรคสี่ มาใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ ระยะ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้โปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 คือ 24 ส.ค.2557 และดำรงตำแหน่งได้ถึงคืนวันที่ 23 ส.ค.2565 เท่านั้น
แนวทางที่ 2 มองว่าตามหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรมจะบังคับใช้กฎหมายที่เป็นโทษกับบุคคลย้อนหลังไม่ได้ ถ้าจะบังคับใช้ต้องมีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ซึ่งกรณีนี้รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับเมื่อ 6 เม.ย.2560 และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 9 มิ.ย. 2562
หากนับเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 8 ปี นับแต่ได้รับการโปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถดำรงตำแหน่งถึงปี 2570 โดยจะเกินวันที่ 24 ส.ค. 2570 ด้วยซ้ำ เพราะจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่อย่างน้อย 1 ครั้ง คื ออย่างช้าที่สุดต้นปี 2566 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ 4 ปี จึงจะมีช่วงดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรีที่อยู่ปฏิบัติหน้าต่อไปหลังพ้นตำแหน่ง ตามมาตรา 158 วรรคสี่ตอนท้าย ไม่ได้ให้นับรวมเข้าไว้เป็นข้อจำกัด 8 ปี
ส่วนแนวทางที่ 3 มองว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้เริ่มนับแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งถ้าเริ่มนับระยะเวลาตามนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในปี 2568
กรณีดังกล่าวสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่าสุดท้ายแล้วพล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งได้ถึงเมื่อใด ทางสมาคมฯ เห็นควรหาข้อยุติ และเห็นช่องทางว่า กกต. และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน สามารถจะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งได้โดยการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับการบริหารราชการแผ่นดิน ขอให้ในการยื่นเรื่องมีคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุติปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย