“วิษณุ”ย้ำ ตีความ"นายกฯ 8 ปี สุดท้ายต้องยื่นที่ กกต.

09 ส.ค. 2565 | 07:09 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2565 | 14:21 น.

“วิษณุ” ย้ำยื่นตีความวาระนายกฯ8 ปี สุดท้ายต้องยื่นต่อที่ กกต. แจงตราบใดที่ศาล รธน.ยังไม่สั่งนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ “บิ๊กตู่” ยังเซ็นเอกสาร - ปรับ ครม.- ย้ายข้าราชการ ได้

วันที่ 9 ส.ค.65นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การยื่นตีความดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการยื่นทั้งช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ถือเป็นช่องทาง เพราะสุดท้ายต้องยื่นต่อไปที่ กกต.

 

โดยช่องทางมีอยู่ 2 แบบเท่านั้น คือ ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ตามมาตรา 82 กับอีกช่องทางคือ กกต. ยื่นตามมาตรา 170 แต่ถ้ายื่นต่อ กกต. จะมีน้ำหนัก เพราะต้องมีการกลั่นกรองคล้ายกับการไต่สวนมูลฟ้อง

 

ดังนั้น ถ้าผ่าน กกต. ถือว่ามีน้ำหนักผ่านไปหนึ่งชั้น แต่จะยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ ซึ่งก็ต้องยื่น กกต.อีกอยู่ดี เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญเองไม่ได้ และขอให้รีบทำ เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะได้รีบวินิจฉัยเหมือนที่ นายจรัญ ภักดีธนากุลอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยบอกไว้ให้ทำให้ชัดเจน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

 

“ปัญหาเรื่องข้อกฎหมายเป็นเรื่องที่ศาลรู้ได้เอง ชาวบ้านอาจไม่เข้าใจ แต่ไม่ต้องสืบพยาน ซึ่งอาจให้ผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจง ไม่ต้องเรียกพยานมาเหมือนกับคดีฆ่ากัน เพราะอันนี้เป็นการตีความกฎหมาย และดูเจตนารมณ์”

 

ส่วนที่มีนักการเมือง ระบุหากเลยวันที่ 3 ส.ค. แล้ว นายกฯ ยังทำงานต่อ จะไปแจ้งความนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถแจ้งได้ แล้วจะอย่างไรต่อ ทั้งนี้  ตราบใดที่ยังไม่มีการสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกฯ สามารถทำได้หมดทุกอย่าง แม้กระทั่งการเซ็นเอกสาร ย้ายข้าราชการหรือการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้

 

นายวิษณุ ย้ำอีกว่า เรื่องนายกฯ 8 ปี ของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่มีการบังคับ และท่านก็พูดเองว่า “ป๋าพอแล้วลูก” ส่วนที่สื่ออยากได้ยินแบบนี้จาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตนไม่ทราบ ถามตนไม่ได้

ส่วนกรณีหาก ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมสภาฯ และทำให้สภาฯ ล่ม จะถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ว่า มันเป็นเกมในทางสภาฯ ที่เคยใช้กันมาเสมอ เช่น วอล์คเอาท์หรือทำให้องค์ประชุมไม่ครบ แต่คิดว่ายังไม่ถึงขั้นจะบอกว่าผิดจริยธรรม เพราะถือเป็นอาวุธของสภาฯ ที่จะใช้ในการคัดค้านสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วย เหมือนกับการเดินออกหรือนั่งอยู่แต่ไม่ยกมือ ดังนั้น เรื่ององค์ประชุมคงจะถือว่าเป็นเรื่องจริยธรรมยาก แม้จะน่าตำหนิก็ตาม