ปมปัญหาวาระการดำรงตำแหน่ง “นายกฯ 8 ปี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีข้อถกเถียงกันว่าจะยึดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2557 หรือ 2560 ซึ่งขณะนี้ก็มีทั้งผู้ที่ได้ยื่นให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความแล้ว และกำลังยื่นอีกในสัปดาห์หน้า
คนแรกที่ยื่นคือ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเกี่ยวการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ในคืนวันที่ 23 ส.ค.2565 นี้
ขณะเดียวกัน “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ก็มีมติร่วมกันที่จะใช้ช่องทางของ “รัฐสภา” เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยจะยื่นต่อประธานรัฐสภา ในวันพุธที่ 17 ส.ค.2565 นี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อไปตรวจสอบเอกสารบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน19 คน ชุดที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 เกี่ยวกับประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ระบุว่า
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้วางหลักการใหม่ในการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 154 โดยกําหนดหลักการให้พรรคการเมืองต้องเปิดเผยรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น
โดยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าว่าบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคือบุคคลใด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่า ถ้าตน เลือกพรรคการเมืองใด ตนจะได้ผู้ใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี และเนื่องจากการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นกิจการของสภาผู้แทนราษฎรโดยแท้ จึงกําหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ได้กําหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลา 8 ปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ตํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกิน 8 ปี ก็ต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี
แต่อย่างไรก็ตาม ได้กําหนดข้อยกเว้นไว้ว่า การนับระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตําแหน่ง จะไม่นํามานับรวมกับระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว
ทั้งนี้ ประธานกรรมการ (มีชัย ฤชุพันธุ์) กล่าวว่า ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับสามารถนับรวมระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดํารงตําแหน่ง นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่
นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีที่ดํารงตําแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย
ประธานกรรมการ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตาม รัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นําความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม”
การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีตามธรรมนูญ 250 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมี ระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี
สำหรับกรรมการ กรธ.ผู้มาประชุม ประกอบด้วย 1.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ 2. นายสุพจน์ ไข่มุกด์ 3.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ 4.นายนรชิต สิงหเสนี 5.นายอุดม รัฐอมฤต 6.นางกีระณา สุมาวงศ์ 7.นางจุรี วิจิตรวาทการ 8.นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ 9.นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย
10.นายเธียรชัย ณ นคร 11.นายประพันธ์ นัยโกวิท 12.นายภัทระ คําพิทักษ์ 13.นายภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ 14.พลตรี วิระ โรจนวาศ 15.นายศุภชัย ยาวะประภาษ 16.นายอมร วาณิชวิวัฒน์ 17.นายอัชพร จารุจินดา 18.พลเอก อัฏฐพร เจริญพานิช 19.นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง สำหรับกรรมการผู้ไม่มาประชุม คือ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ (ลาการประชุม)