สภาล่มอีก! หลังส.ส.รัฐบาล ไม่ร่วมแสดงตน ขวางญัตติด่วน"นายกฯ 8 ปี"

11 ส.ค. 2565 | 08:32 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2565 | 16:16 น.

สภาล่มอีก! หลัง"ฝ่ายค้าน" แหกข้อตกลงวิป2ฝ่าย เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาปมนายกฯ 8ปี แทรกแก้หนี้นอกระบบ ก่อนถูก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ตลบหลัง ไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม ทำสภาฯล่ม

    วันที่ 11 ส.ค. 2565   การประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเพื่อขอให้สภาฯ พิจารณาประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เนื่องจากเป็นประเด็นที่สำคัญและต้องการเสนอความเห็นไปยังรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการไม่เกิดปัญหา

 

           ทั้งนี้ญัตติดังกล่าวถูกคัดค้านจากฝั่งรัฐบาล โดยนายอรรถกร ศิริลัทยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอกังวลว่าจะใช้เวทีของสภาเพื่อกดดันผู้พิจารณาวาระ 8 ปีหรือไม่ ทั้งที่สภาฯ ไม่มีอำนาจ โดยเรื่องนี้ศาลมีอำนาจตัดสินใจว่าจะจบอย่างไร

 

ก่อนหน้านี้ในการหารือของวิป 2 ฝ่าย ตกลงว่าจะเสนอญัตติด่วนเพื่อแกัปัญหาหนี้นอกระบบ หากจะพิจารณาเรื่องที่ตกลงคือ หนี้นอกระบบตนไม่ติดใจ แต่หากจะยื่นญัตติเรื่อง 8 ปีตนไม่เห็นด้วย 

 

 จากนั้น ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน คือ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เสนอญัตติในทำนองเดียวกันกับนายสุทิน เพราะมองว่าเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ กระทบต่อความสงบของประเทศ  เนื่องจากเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นไปด้วยเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ 

สภาล่มอีก! หลังส.ส.รัฐบาล ไม่ร่วมแสดงตน  ขวางญัตติด่วน\"นายกฯ 8 ปี\"

       

   อย่างไรก็ดีนายศุภชัย พยายามอธิบายว่า วาระตามที่เสนอญัตติการดำรงตำแหน่งนายกฯ​ตามรัฐธรรมนูญ สมาชิก สามารถเข้าชื่อเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ ถึงการพ้นจากตำแหน่ง ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้นตนมองว่าควรใช้ช่องทางดังกล่าวจะเหมาะสมกว่า 

 

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การเสนอญัตติเพื่ออภิปรายไม่ใช่การชี้ขาด แต่คือเสนอเรื่องไปยังรัฐบาล ทั้งนี้ไม่ก้าวล่วงในการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่หวังว่าจะผลทางกฎหมาย แต่เพื่อให้มีผลผูกพันทางจิตสำนึก หากนายกฯ ฟังแล้วและมีสปิริตอาจจะลาออกเองก็ได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมยังคงถกเถียงในประเด็นดังกล่าว และมีส.ส.พลังประชารัฐ เสนอญัตติให้พิจารณาตามวาระปกติ ขณะที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า  ตนไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง โดยตนเข้าใจเหตุผลของฝ่ายค้าน

 

แต่รัฐบาลรู้สึกว่าเป็นเรื่องกดดันและหลอกด่า ขณะนี้ต้องคำนึงว่าจะเหมาะสมหรือก้าวล่วงศาลหรือไม่ อย่างไรก็ดีตามที่ตกลงคือจะพิจารณาญัตติเรื่องเงินกู้ ซึ่งตนเตรียมา แต่เมื่อเจอแบบนี้เหมือนถูกหลอก 

 

 “ผมเข้าใจฝ่ายค้าน และขอเสนอทางออก คือให้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ต่อเรื่องนี้ ผมพร้อมร่วมลงชื่อด้วย เป็นชื่อแรก เพราะต้องการถามสามัญสำนึก” นายชาดา กล่าว

 

หลังจากที่ส.ส.ทั้ง2 ฝ่ายอภิปรายเหตุผลพอสมควร นายศุภชัย เรียกส.ส.ให้แสดงตนก่อนลงมติ   ทั้งนี้พบว่า ส.ส.ภูมิใจไทย เรียกร้องให้ล้างระบบการแสดงตนเนื่องจากส.ส.สับสนว่าเป็นการลงมติเรื่องใดกันแน่ ทำให้นายศุภชัยต้องแจ้งเรื่องที่กำลังพิจารณาถึง 2 รอบ และล้างระบบตรวจสอบที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้

 

จากนั้นได้ประกาศผล ปรากฎว่า มีผู้มาแสดงตนเป็นองค์ประชุม 124 คน ทำให้นายศุภชัย กล่าวว่า เมื่อแสดงตนแล้วไม่ครบองค์ประชุมที่ต้องใช้ 239 คน ผมขอปิดประชุม”

 

           อย่างไรก็ดี นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ขอหารือว่า “เครื่องหรือระบบอาจจะมีปัญหาก็ได้ เพราะจากที่มองด้วยสายตา พบว่ามีผู้ที่นั่งในห้องประชุมเยอะกว่า 124 คน” แต่การประชุมยังเดินหน้าปิดประชุมแล้ว ขณะที่ก่อนหน้านั้นนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอให้พิจารณาค่าตอบแทนของส.ส. ที่พบว่าไม่ทำหน้าที่ด้วย 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากภาพในห้องประชุม พบว่า ที่นั่งของฝั่งรัฐบาล พบว่ามีส.ส.นั่งกันอย่างบางตา

 

ทั้งนี้การประชุมสภาฯ ที่ล่มดังกล่าวนับเป็นครั้งที่ 18 ของสภาฯ ชุดที่25