วันที่ 18 ส.ค.65 พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยให้ยุติเรื่องที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 23 (1)
เพื่อพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบกำหนดเวลา 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ เมื่อใด และความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อใด
เนื่องจากได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าพ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 23 (1) กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หมายถึง กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว และประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่มีผลใช้บังคับเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ เท่านั้น
" แต่กรณีตามคำร้องเรียนนี้เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการตีความว่าสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ. ประยุทธ์ ครบกำหนดเวลา 8 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ เมื่อใด และความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อใด มิใช่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ "
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า "นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย” และวรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “ให้นำความในมาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (5) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้กกต.มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย”
ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงไว้เป็นการเฉพาะแล้ว คือให้ส.ส.หรือส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า1ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก โดยให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ยังกำหนดให้กกต.มีอำนาจส่งเรื่องดังกล่าวให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย
ดังนั้น กรณีปัญหาตามคำร้องเรียนนี้จึงเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดหน่วยงาน หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีไว้โดยชัดแจ้งและเป็นการเฉพาะแล้ว
โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของกกต.ในการส่งเรื่องในลักษณะดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 37 (3) แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นตามมาตรา 37 (4) แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560
ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 23 (1) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงวินิจฉัยยุติเรื่องร้องเรียน ตามมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560