“บิ๊กป้อม” ประเดิมงานแรก รักษาการนายกฯ เคาะแผนเตือนภัยพิบัติ

25 ส.ค. 2565 | 03:51 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2565 | 11:00 น.

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประเดิมงานแรก รักษาการนายกฯ ประชุมบอร์ดบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เคาะร่างแผนยุทธศาสตร์เตือนภัยพิบัติ เร่งดึงหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมจัดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ส่งตรงถึงตัวประชาชน ลดเสี่ยงภัยพิบัติ

พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) ครั้งที่1/2565 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2566 - 2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ "เป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการบริหารการเตือนภัย ด้วยดิจิทัลแบบบูรณาการที่มีมาตรฐานสากล" ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี

 

รวมทั้งเห็นชอบการดำเนินการแจ้งเตือนภัยโดยใช้ระบบ Cell Broadcast ด้วยการแจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสามารถระบุพื้นที่ที่จะทำการแจ้งเตือน ไปยังอุปกรณ์สื่อสารจำนวนมากในการส่งเพียงครั้งเดียว 

 

ทั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินการจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทานสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้รับทราบแนวทางการถ่ายโอนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มาสังกัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2559 ทั้งนี้ ศูนย์เตือนภัยจะปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในภาวะปกติ ภาวะที่มีความเสี่ยง และภาวะที่มีการเกิดภัยพิบัติ

 

พร้อมทั้งได้รับทราบ ความคืบหน้าระบบการเฝ้าระวังและช่องทางการแจ้งเตือน โดยมีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อให้มีการรับมือและอพยพ ผ่านอุปกรณ์การเตือนภัยประกอบด้วย หอเตือนภัยจำนวน 338 หอ เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม จำนวน 163 แห่ง 

 

ติดตั้ง ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยเขตทั้ง 18 เขต 70 จังหวัดและสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำจังหวัด จำนวน 285 แห่ง รับข้อมูลผ่านสัญญาณดาวเทียมและกระจายการแจ้งเตือนด้วยระบบคลื่นวิทยุไปยังหอเตือนภัยขนาดเล็กจำนวน 674 แห่ง และส่งถึงหอกระจายข่าวภายในชุมชน และหมู่บ้าน ต่อไป

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี

 

พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย รวมทั้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนงาน จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน อย่างมีเอกภาพ เพื่อยกระดับการแจ้งเตือนสู่ระดับที่สูงขึ้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและปฏิบัติงานได้จริง 

 

เพื่อลดความเสี่ยง ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมหาศาล จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อาทิ น้ำท่วมฉับพลัน ไฟป่า แผ่นดินไหวหรือ สึนามิ เป็นต้น