เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 ภายหลัง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง ตรมรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงผลการพิจารณา ว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) จึงมีมติ “เอกฉันท์” รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
สำหรับคำขอของผู้ร้อง (พรรคร่วมฝ่ายค้าน) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
มติ5:4สั่งบิ๊กตู่หยุดหน้าที่
ต่อมามีรายงานว่า มติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณีสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ดังกล่าว แบ่งเป็นเสียงข้างมาก 5 ราย ที่เห็นชอบให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายจิรนิติ หะวานนท์ นายวิรุฬห์ แสงเทียน และ นายนภดล เทพพิทักษ์
ส่วนฝ่ายเสียงข้างน้อย 4 เสียง ที่เห็นว่าไม่ควรให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
ศาลเรียก 3 คนให้ปากคำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคคลที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เรียกให้ปากคำในกรณีนี้ นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ถูกร้อง ที่ศาลให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว ศาลยังให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ. (ในขณะนั้น) ให้ปากคำเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน ด้วยเช่นกัน
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ก็ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงเป็นรายลักษณ์อักษร ภายใน 15 วัน หากมีการขอเลื่อนการชี้แจงออกไป ก็ให้เวลาต่อได้อีก 15 วัน
หลังจากนั้น “คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” จะนัดประชุมเพื่ออภิปรายข้อมูล หลักฐาน ก่อนนัดแถลงคำวินิจฉัยส่วนตน และออกเป็นมติของศาลรัฐธรรมนูญออกมา กระบวนการ เร็วสุดคือ 1 เดือน แต่ถ้าล่าช้า ขยายไปเรื่อยๆ ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญ
“จรัญ”คาด 2 เดือนตัดสิน
ด้าน นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ว่า คิดว่าถ้าได้ฟังคำคัดค้านของนายกรัฐมนตรี ประกอบบันทึกเจตนารมณ์ของ กรธ. รวมถึงเอกสารการประชุมของ กรธ. ที่ได้จากรัฐสภา น่าจะเพียงพอในการวินิจฉัยประเด็นนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเชิญใครมาให้ข้อคิดเห็นต่อศาล
เพราะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลต้องวินิจฉัยเอง และหากจะให้การวินิจฉัยเร็ว ก็ต้องไม่เชิญ แต่หากคิดว่าอ่านบันทึกเจตนารมณ์ กรธ. และคำโต้แย้งของนายกฯ แล้วยังไม่กระจ่าง ก็อาจจะยอมเสียเวลาอีก 1 สัปดาห์ เชิญเข้าชี้แจง
“หากดูจากกฎเกณฑ์และวิเคราะห์จากบ้านเมือง หลายฝ่ายก็วิเคราะห์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีคำวินิจฉัยอีกไม่เกิน 2 เดือน หรืออย่างช้าที่สุดช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้”
เมื่อถามว่าคำชี้แจงนายกฯ ต้องทำด้วยตนเองหรือไม่ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านนี้ ตอบว่า ไม่จำเป็น สามารถให้ทีมกฎหมายดำเนินการได้ และให้นายกฯ ลงลายเซ็นรับรอง ซึ่งหลังนายกฯ ส่งคำคัดค้านไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะได้ทราบว่ามีแง่มุมอะไรที่เรายังมองไม่เห็นอีกหรือไม่ เพราะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลถือเป็นมือหนึ่งทั้งนั้น เราก็มองไม่รู้ว่าท่านคมในฝักอย่างไร”
“มีชัย-ปกรณ์”แจง8ปีนายกฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ชี้แจงด้วย ก็เพื่อขอทราบเจตนารมณ์ของ กรธ. ขณะร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ในประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ว่ามีเจตนารมณ์เช่นใด
ส่วนการเรียก นายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขานุการ กรธ.ให้ปากคำ ก็เพราะมีบทบาทสำคัญในการบันทึกรายงานการประชุมของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น
ศาลรัฐธรรมนูญ คงต้องการบันทึกการประชุม ในช่วง กรธ.ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 รวมถึงบทเฉพาะกาลที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องในประเด็นนายกฯ 8 ปี เช่น มาตรา 264 เพื่อมาพิจารณาประกอบการวินิฉัยการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า แต่ละมาตรา กรธ.ทั้ง 21 คน ยกร่างขึ้นมามีเจตนารมณ์อย่างไร
โดยเฉพาะการเขียน มาตรา 158 ที่ให้เป็นนายกฯ ไม่เกิน 8 ปี กรธ.ต้องการให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ และบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวข้องมีข้อยกเว้นการไม่ให้นับรวมช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่
“มีชัย-ปกรณ์”ชี้ชะตาบิ๊กตู่
ทั้งนี้หาก นายมีชัย และ นายปกรณ์ ทำหนังสือตอบกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวข้องกับวาระ 8 ปี นายกฯ ต้องนับรวมย้อนหลังก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วย ก็จะเป็น “ผลลบ” ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปแบบถาวร
แต่หากทั้ง นายมีชัย และ นายปกรณ์ ชี้แจงว่า การนับเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ให้นับย้อนหลัง ให้นับหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที 6 เม.ย.2560 หรือ หากบอกว่าให้นับจากหลังการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เข้าเป็นนายกฯ รอบ 2 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2562 ถ้าเป็นแบบนี้ ก็มีโอกาสสูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ “ไปต่อ” ในตำแหน่งนายกฯ
เพราะคำชี้แจงของอดีต กรธ. ทั้ง 2 คน จะมี “น้ำหนัก” อย่างมาก
มาถึงจุดนี้ “มีชัย ฤชุพันธุ์” และ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะได้ “ไปต่อ” หรือ “จบเพียงเท่านี้”กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29