วันนี้(3 ก.ย.65) นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า
จากที่พรรคสร้างอนาคตไทยได้เปิดกรอบยุทธศาสตร์ 5 แก้ไข 5 สร้าง เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งนำเสนอนโยบายการจัดตั้งกองทุนสร้างอนาคตไทย เพื่อเป็นกลไกหลักที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ วันนี้ผมขอขยายรายละเอียดนโยบายดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของกองทุนฯ
ทั้งนี้กองทุนสร้างอนาคตไทย จะเป็นเครื่องมือหลักในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาสำคัญ 2 ข้อ คือ 1.เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดตลอดสองปีที่ผ่านมา และยังถูกซ้ำเติมจากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน 2.เร่งวางรากฐานการพัฒนายกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและก้าวทันโลก
สำหรับการแก้ปัญหาปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือการปลดเปลื้องภาระหนี้สินให้กับประชาชน ซึ่งวันนี้เรียกว่าเข้าขั้นวิกฤตและกำลังส่งผลกระทบทำให้กำลังซื้อประเทศชะลอตัวลง
ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งรายย่อย หาบเร่ แผงลอย จำเป็นต้องช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ หลังจากทุนรอนที่มีอยู่ร่อยหรอไปใน 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยพรรคสร้างอนาคตไทยเสนอว่าจะต้องดำเนินการเรื่องนี้พร้อมๆ กัน 3 ด้าน คือ
1. การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะต้องครอบคลุมหนี้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ธุรกิจ หนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ และต้องเข้าถึงผู้เดือดร้อนทุกกลุ่มในวงกว้าง ซึ่งจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้มีปริมาณมากพอที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
2. การแก้หนี้จะยั่งยืนได้ต้องเติมทุนใหม่เข้าไปช่วยด้วย เพื่อให้โอกาสคนล้มแล้วสามารถลุกขึ้นมาและก้าวต่อไปได้ และการเติมทุนจะรวมถึงในส่วนของกลุ่มผู้เป็นหนี้นอกระบบด้วย เพราะกลุ่มนอกระบบที่มีจำนวนมาก ที่ผ่านมาเขากู้ในระบบสถาบันการเงินไม่ได้ เนื่องจากไม่เคยมีประวัติกู้ยืมมาก่อน แต่กองทุนฯสามารถเข้าไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้กู้ได้ โดยใช้กลไกใหม่ที่แตกต่างไปจากกลไกปกติที่ผ่านมา
3. การเพิ่มทักษะประกอบอาชีพให้เข้มแข็ง และมีรายได้มากพอที่จะรองรับการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะเดียวกันกองทุนฯจะมีระบบดูแลผู้ที่ได้รับการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เขาสามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง และเงินจากกองทุนฯที่ใช้ไปก็จะมีประสิทธิภาพเกิดผลดีอย่างแท้จริง
ก่อนหน้านี้ ผมเคยเสนอความคิดเห็นว่า รัฐบาลควรประกาศให้การปลดเปลื้องภาระหนี้สินประชาชนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทำงานร่ามกันแบบบูรณาการ ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. เอสเอ็มอีแบงก์ บสย. รวมไปถึงกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งดูแลเกษตรกร และกระทรวงมหาดไทยที่มีเครื่องมือเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ
สุดท้ายต้องดึงองค์กรภาคเอกชนเข้าร่วมขับเคลื่อนด้วย ทั้งธนาคารพาณิชย์ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม เป็นต้น และเมื่อมีกลไกกองทุนเข้าไปเป็นเครื่องมือหลักขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภาระหนี้สินประชาชนแล้ว การดำเนินงานก็จะสัมฤทธิ์ผลในที่สุด
พรรคสร้างอนาคตไทยมั่นใจว่า กลไกกองทุนจะสามารถแก้ปัญหาภาระหนี้ประชาชนได้อย่างครบวงจร ขณะเดียวกันก็สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง รองรับความท้าทายในอนาคต โดยเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในกองทุนฯรวม 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ใช้แก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชน 1 แสนล้านบาท ส่วนฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งก้าวทันโลกอีก 2 แสนล้านบาท
สำหรับที่มาของงบประมาณที่ใช้ตั้งกองทุนฯ สามารถจัดสรรมาจากงบประมาณแผ่นดินปกติ ซึ่งในภาวะวิกฤตที่ประเทศกำลังประสบอยู่ รวมทั้งยังมีความท้าทายมากมายในอนาคต งบประมาณคือ เครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณจึงควรต้องปรับใหม่ให้สอดรับกับทิศทางประเทศที่กำลังเป็นไปอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณของรัฐ ปกติมีการจัดงบส่วนลงทุนอย่างน้อยร้อยละ 20 ของวงเงินทั้งหมดอยู่แล้ว โดยในปีงบ 2566 คิดเป็นวงเงินลงทุนราว 6 แสนล้านบาท เราจึงควรทบทวนการจัดงบประมาณของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตามที่กล่าว
ดังนั้น การโยกงบลงทุนมาใช้เพื่อตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจประเทศ วงเงิน 3 แสนล้านบาท จึงสามารถกระทำได้ ที่สำคัญการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ จะไม่เป็นก่อภาระการกู้ยืมของประเทศเพิ่มเติม
พรรคสร้างอนาคตไทยมั่นใจว่า นโยบายกองทุนที่กำหนดขึ้นนี้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และตอบโจทย์การแก้ปัญหาและนำพาประเทศให้ออกจากวิกฤต
อย่างไรก็ตาม พรรคพร้อมที่จะรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะจากทุกท่าน เพื่อร่วมกันทำให้แนวนโยบายนี้ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตรงจุดยิ่งขึ้น โดยท่านสามารถรับทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายนี้ จากวีดีโอที่ผมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และนำมาเผยแพร่ไว้