วันที่ 7 ก.ย. 65 เวลา 09.30น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 3/65 ผ่านระบบ วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ณ ห้องประชุม สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
เพื่อรับทราบผลการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและพลเรือน สามารถปฏิบัติงานร่วมกันในการควบคุมสถานการณ์และบังคับใช้กฏหมาย
ที่ประชุมร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่ทุกอำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้น อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส รวมทั้ง อ.ไม้แก่น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.เบตง อ.กาบัง จ.ยะลา ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 20 ก.ย. - 19 ธ.ค.65
พล.อ.ประวิตร กำชับถึงเหตุการณ์ระเบิดและเผาพื้นที่ 17 จุดในพื้นที่จังหวัดแดนภาคใต้ที่ผ่านมา ขอให้หน่วยงานความมั่นคง เพิ่มความเข้มข้นงานข่าวและทำงานเชิงรุกร่วมกันใกล้ชิดกับภาคประชาชนในพื้นที่มากขึ้น เพื่อป้องกันลดเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น
พร้อมย้ำนโยบายและความตั้งใจของรัฐบาล ในการพัฒนาพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมควบคู่กับดูแลเสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชน ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน
พร้อมกันนี้ ได้ฝากความระลึกถึงและเป็นกำลังใจ จากนายกรัฐมนตรี ถึงเจ้าหน้าที่และครอบครัวที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุกคน โดยขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน อดกลั้น ด้วยความระมัดระวังและไม่ประมาท เพื่อนำความสงบและสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ได้
จากนั้นเวลา 10.00น. พล.อ.ประวิตร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งที่ 2/65 ผ่านระบบ VTC ณ ห้องประชุม สมช. เพื่อติดตามขับเคลื่อนงานการแก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมรับทราบ รายงานสถานการณ์ข่าวและการขับเคลื่อนงานการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผลการขับเคลื่อนงานของคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 65 รวมทั้ง ติดตามการขับเคลื่อนศูนย์พัฒนาทักษะภาษาเพื่อการสื่อสารในพื้นที่ และการส่งเสริมบทบาทสตรีในพื้นที่ให้มีบทบาท ไม่กีดกันและแบ่งแยกทั้งในและต่างประเทศ
ต่อจากนั้น ได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนการสนับสนุนการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษาไทยมุสลิม ที่ศึกษาต่อในต่างประเทศ พ.ศ.2566-2570 ที่ครอบคลุมการดูแลนักศึกษาที่ประสงค์จะเดินทางไปต่างประเทศ ตั้งแต่ก่อนการเดินทาง ระหว่างศึกษาและหลังสำเร็จการศึกษา
โดยแผนดังกล่าว ได้รับความร่วมมือและมีส่วนร่วมด้วยดีจากทุกภาคส่วน เพื่อการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม เน้นส่งเสริมภาษาและ สร้างสัมพันธ์อันดีกับชุมชน การเสริมระบบสาธารณสุข ความรู้ด้านอาชีพ กระบวนการทางความคิด ( Mindset ) และการพัฒนาทักษะภาษาที่จำเป็น โดยปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีนักศึกษาไทยมุสลิม ศึกษาต่อในต่างประเทศมากกว่า 6,000 คน
พล.อ.ประวิตร’ ได้ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนพัฒนาบุคลากรไทยทุกเชื้อชาติและศาสนา เพื่อร่วมกลับมาร่วมเป็นกำลังหลักพัฒนาประเทศ โดยกำชับให้จัดทำระบบฐานข้อมูลร่วมกันและดึงทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษา
พร้อมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับ มีความเข้าใจและขับเคลื่อนดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ พร้อมย้ำสั่งการ ต้องพยายามสื่อสารทำความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น ทั้งงานความมั่นคงและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และต้องดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ร่วมกันไปอย่างต่อเนื่อง