กางปฏิทินการเมืองเวลานี้ประเด็นร้อนฉ่าหนีไม่พ้นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาวินิจฉัยปมการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่า มีวาระครบ 8 ปี เมื่อใด จะยึดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2557 หรือ ปี 2560 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นจะเป็นผู้ให้คำตอบสุดท้าย ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ความเป็นไปในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "พล.อ.ประยุทธ์"
หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ "พล.อ.ประยุทธ์" เคยถูกศาลรธน.วินิจฉัย กรณีขาดคุณสมบัติ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขาดคุณสมบัติในการมีชื่อเป็น ว่าที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2562 ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ใช่ "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ทำให้ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและไม่ขาดคุณสมบัติ "ความเป็นนายกรัฐมนตรี"
"พล.อ.ประยุทธ์" ถูกตรวจสอบอีกครั้งเกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ ในปีถัดมา จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักของข้าราชการทหารทั้งที่เกษียณอายุมาแล้ว 6 ปี โดยในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไปแล้ว 6 ปี
ในการวินิจฉัยปม "นายกฯ 8 ปี" นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เผชิญกับการทำหน้าที่ของ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่เคยวินิจฉัยคลายปมปัญหาตามรัฐธรรมนูญในสองคดีแรกมาแล้ว
ไม่นับรวมกับคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้อง กรณีการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ และกรณีออกคำสั่งม. 44 สั่งขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เอกชนออกไปอีก 40 ว่า ขัดรัฐธรรมนูญความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนชุดปัจจุบันซึ่งจะทำหน้าที่วินิจฉัยปมปัญหาการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่นั้น บอกได้เลยว่า ไม่ธรรมดา
1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ได้รับเลือกมาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เกิด 1 มีนาคม 2495 จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) ม.ธรรมศาสตร์, นิติศาสตรมหาบัณฑิต ม.รามคำแหง (กฎหมายมหาชน) เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
อดีตอัยการจังหวัดสกลนคร, อัยการจังหวัดอุดรธานี และอัยการพิเศษฝ่ายแผนงานฝึกอบรม, ตุลาการศาลปกครองกลาง, รองอธิบดีศาลปกครอง เชียงใหม่, อธิบดีศาลปกครองพิษณุโลก, ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.) 2 และอาจารย์พิเศษ ม.นเรศวร และ ม.รามคำแหง
ก่อนจะได้รับเลือกให้นั่งเป็น ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนล่าสุด นายวรวิทย์ ได้รับเลือกมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมงานกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนหน้านี้ วินิจฉัยให้
ยุบพรรคไทยรักษาชาติ แบบเป็นเอกฉันท์ กรณีที่เสนอชื่อบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค และเป็น 1 ใน 7 เสียงข้างมากที่มีมติให้ ยุบพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับ นายนุรักษ์ มาประณีต (ประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น) นายจรัญ ภักดีธนากุล นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายบุญส่ง กุลบุปผา นายปัญญา อุดชาชน และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
2.นายจิรนิติ หะวานนท์
รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เกิด 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 จบการศึกษานิติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ไปศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทางกฎหมาย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา กรรมการกฤษฎีกา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชา กฎหมายปกครองที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และเป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชาอาชญาวิทยาชั้นสูง หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จิรนิติ ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาวิชานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีความเชี่ยวชาญข้อกฎหมาย โดยระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ในปี 2560 เคยเป็นเจ้าของสำนวนและองค์คณะคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีอาญาและแพ่งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา นายเกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย คนสนิทของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และอดีตที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่ กรณียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ
3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน2497 จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง (พ.ศ.2517) เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 28 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (พ.ศ.2518) นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ.2525)
ตำแหน่งหน้าที่สำคัญในอดีต นายทหารพระธรรมนูญ กองทัพเรือ (25 มีนาคม 2519 – 30 กันยายน 2524 ) ผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำกระทรวงช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุ่งสง ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแม่สอด ศาลจังหวัดพิษณุโลก และศาลจังหวัดนครสวรรค์ (1 ตุลาคม 2524 – 31 ตุลาคม 2534 )
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหลังสวน ศาลจังหวัดอุทัยธานี และศาลจังหวัดกำแพงเพชร (1 พฤศจิกายน 2534 – 10 เมษายน 2540 ) ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา (11 เมษายน 2550-2 มิถุนายน 2542) เป็นต้น
4.นายวิรุฬห์ แสงเทียน
รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เกิดวันที่ 27 พฤศจิกายน 2494 จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
นายวิรุฬห์ เริ่มรับราชการในตำแหน่งอัยการ ผู้พิพากษาประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมุกดาหาร, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดกาฬสินธุ์, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมา,
ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเบตง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา, รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา, รองประธานศาลฎีกา, ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
ผลงานที่สำคัญ คือ เป็นองค์คณะที่ร่วมพิพากษาคดีโครงการจำนำข้าว และคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เกิดวันที่ 14 สิงหาคม 2495 จบศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ประวัติการรับราชการ ตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
6.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ เกิด 15 มิถุนายน 2496 จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา นิติศาสตรมหาบัณฑิต (สาขากฏหมายอาญา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ LL.M. (Master of Law, University of Pennsylvania, U.S.A.) ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางกฏหมายอาญา (Diplôme d’Etude Approfondies de sciences criminelles)
ปริญญาเอก (เกียรตินิยม) Doctorat en droit pnal mention très honorable, l’University de Nancy II, France
ประวัติการทำงาน ผู้บรรยายพิเศษโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (พ.ศ. 2536-2556) รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (21 มิถุนายน พ.ศ. 2538 – 19 สิงหาคม พ.ศ. 2541 ) กรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (24 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 - 26 กันยายน พ.ศ. 2556) เป็นต้น
นายทวีเกียรติ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยที่มีมติ ไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีกู้ยืมเงินจำนวน 191.2 ล้านบาทจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (หัวหน้าพรรคในขณะนั้น)
7.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ เกิด 28 กรกฎาคม 2501 ประวัติการศึกษา รัฐศาสตรบัณฑิต (การเมืองการปกครอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับสอง อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ภาควิชาประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยPH.D. (INTERNATIONAL STUDIES) WASEDA UNIVERSITY,ประเทศญี่ปุ่น
ตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง
8.นายปัญญา อุดชาชน
ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ เกิด 15 เมษายน 2499 จบศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) นิติศาสตรบัณฑิต นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) M.A. (Public Administration), Detroit, Michigan, U.S.A. นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Laws) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Justice Administration)
ประวัติการรับราชการ ปลัดอำเภอ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กระทรวงมหาดไทย เลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กระทรวงมหาดไทย นักวิชาการปกครอง กรมการปกครอง เป็นต้น
9.นายนภดล เทพพิทักษ์
ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ เกิด 3 ธันวาคม 2499 จบรัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) Master of Arts (International Relations) , Northern Illinois University(Fulbright Scholarship)
นายนภดล เริ่มทำงานในตำแหน่งบริหารระดับสูงครั้งแรก โดยเป็นอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกและแอฟริกา แล้วออกไปเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (กรุงไคโร) จนถึงปี 2553
เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำนิวซีแลนด์ (กรุงเวลลิงตัน) แล้วเข้ามาเป็นรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระยะหนึ่งก่อนออกต่างประเทศ ครั้งสุดท้ายเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (เวียงจันทน์)