***คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3817 ระหว่างวันที่ 11-14 ก.ย.2565 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** เป็นเรื่องเป็นราวถึงขั้น “ศาลรัฐธรรมนูญ” ต้องสั่งสอบหาต้นตอว่า “หลุด” ไปได้อย่างไรเลยทีเดียว สำหรับเอกสารคำชี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ปม “นายกฯ 8 ปี” ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่หลุดเผยแพร่ในโลกโซเชียล ถึงขั้นที่นาน ๆ ครั้ง เชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาแถลงเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 ที่ผ่านมาว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญ และกังวลใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อหากระทบผู้ให้ความเห็นและพาดพิงไปถึงคู่ความจึงให้สำนักงานฯ ติดตามว่า เอกสารมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาเมื่อมีเอกสารรั่วไหลในชั้นธุรการ ก็จะกำชับให้พึงระมัดระวัง แต่เมื่อมีการรั่วไหลอีก ก็ต้องเพิ่มความรัดกุมให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติจะพิจารณาว่า มาตรการของเรามีข้อบกพร่องเช่นไร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในกระบวนการพิจารณายืนยันว่าประธานไม่ได้นิ่งนอนใจ ท่านห่วงใย และ “รู้สึกเสียใจ” จึงให้สำนักงานฯ ระมัดระวัง และดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งจะเอาผิดใครได้หรือไม่จะต้องรอดูผลการตรวจสอบก่อน
ส่วนที่เอกสารชี้คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ก็หลุดเผยแพร่ในโลกโซเชียลอีกเช่นกันนั้น ทางสำนักงานศาลฯ ยังไม่ทราบ แต่จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะควบคุม เมื่อมีเหตุก็จะต้องเพิ่มมาตรการ เพราะท่านประธานห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ส่วนตัวท่านไม่ได้หวั่นไหว และยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้เข้มแข็ง มั่นคง
*** ไปดูเนื้อหาสาระสำคัญคำชี้แจงของ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ที่ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ สรุปได้ว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้นับระยะเวลาเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีกฎเกณฑ์หลายอย่างเกี่ยวกับการตั้งคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิ และเพิ่มความรับผิดชอบ บทบัญญัติต่างๆ เหล่านั้น จึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้ว ก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับได้ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ “หลักทั่วไปและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้น ย่อมต้องมุ่งหมายที่จะใช้กับคณะรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งปี 2560"
*** นอกจากนั้นการได้มาซึ่ง ครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป มี ส.ส. และวุฒิสภา ที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย ส่วนบทเฉพาะกาล มาตรา 264 (ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม” มีไว้เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติ และการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้เป็นการเฉพาะ
*** คำชี้แจงของ มีชัย ยังระบุว่า ผลของมาตรา 264 ครม.รวมทั้งนายกฯที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เม.ย.2560 ผลดังกล่าว บทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้ จึงมีผลต่อ ครม.และนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตาม มาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 เป็นต้นไป
*** จากคำชี้แจงของ มีชัย ไปดูคำชี้แจงของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์” ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดูบ้าง พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงสรุปสาระสำคัญได้ว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี จากปี 2557 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นนายกฯ 2 ครั้ง ครั้งแรก ดำรงตำแหน่งตามรธน.ฉบับชั่วคราว 2557 ต่อมารธน.2560 บังคับใช้ ก็ยังคงดำแหน่งนายกฯ อยู่ตามบทเฉพาะกาล หลังเลือกตั้งได้รับเลือกเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 ไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกฯ ครั้งแรกมานับได้ เพราะรธน.2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว และการประกาศใช้รธน.2560 ทำให้ความเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 สิ้นสุดลงนับตั้งแต่ 6 เม.ย.2560 การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกฯ ครั้งแรก จึง “ขาดตอน” จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลาการเป็นนายกฯ ครั้งแรก กับนายกฯ หลังรธน.2560บังคับใช้ได้
*** พล.อ.ประยุทธ์ ยังอ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยถึงสถานะความเป็นรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 และ 2561 ว่า คณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ถือเป็นรัฐมนตรี นับจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 “ข้าพเจ้าสำนึกและปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ตลอดมาด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและด้วยความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในหน้าที่และประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน สูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด ข้าพเจ้าเชื่อว่า สำนึกในการปฏิบัติหน้าที่และดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อํานาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอันเป็นหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ไม่ใช่เฉพาะแต่ฉบับ 2560 ข้าพเจ้าจะดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ตราบใด ที่ข้าพเจ้าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตนในลักษณะที่เป็นเหตุให้เสียหายต่อประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์สาธารณะของประชาชนแล้ว ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของข้าพเจ้าก็ไม่ได้ขัดต่อหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อย่างใด”
*** พล.อ.ประยุทธ์ ยังสรุปในตอนท้ายของคำชี้แจงว่า “การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่อาจนับจากการเป็นนายกฯ ครั้งแรกเมื่อปี 2557 ได้ เพราะความเป็นนายกฯ ครั้งแรกของข้าพเจ้าได้สิ้นสุดลงแล้ว และขาดตอนไปแล้ว นับจากวันที่ 6 เม.ย.2560 ซึ่งเป็นวันที่รธน. 2560 ประกาศใช้ และการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกิน 8 ปี นั่นหมายถึงการดำรงตำแหน่งตามรธน.2560 เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญอื่น
ดังนั้น ข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ยังไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและตามหลักนิติธรรม จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของข้าพเจ้ายังไม่สิ้นสุดลงตาม รธน.2560 และตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง”
*** วันที่ 8 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมพิจารณาคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ มีชัย ฤชุพันธุ์ และ ปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขาฯ กรธ. ว่าเพียงพอสิ้นข้อสงสัยแล้วหรือยัง ถ้าพอก็คงกำหนดนัดวันลงมติวินิจฉัย แต่ถ้าต้องหาข้อมูลเพิ่ม ก็เชื่อว่าใช้เวลาอีกไม่นาย เชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า กรณีใดถ้าไม่ได้เป็นเรื่องที่มีการไต่สวนก็จะนัดวินิจฉัยหลังพยานหลักฐานครบถ้วนแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน หลังจากศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอวินิจฉัย …ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ หรือ มีชัย จะชี้แจงอย่างไร คนที่จะตัดสินชี้ขาดก็คือ “9 อรหันต์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น แล้วเรามารอลุ้นผลกัน...