กกต.เตรียมพร้อมเลือกตั้ง ส.ส. ติวเข้มเจ้าหน้าที่สืบสวนไต่สวน

16 ก.ย. 2565 | 07:52 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2565 | 15:07 น.

กกต.ติวเข้มอนุกรรมการวินิจฉัย ถอดบทเรียนสืบสวนไต่สวน รับเลือกตั้ง ส.ส. ย้ำดำเนินคดีทุจริต ต้องยึดหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์

วันนี้ (16 ก.ย.65) นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง เพื่อถอดบทเรียนกระบวนการสืบสวน ไต่สวน และการดำเนินคดีเลือกตั้ง โดยมีประธานคณะอนุกรรมการวินิจฉัยทั้ง 35 คณะ และฝ่ายสืบสวนสอบสวนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และสรุปแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อให้การกระบวนการทำงานด้านสืบสวน ไต่สวนและดำเนินคดีเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ 


นายเลิศวิโรจน์ กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ว่า มาตามรัฐธรรมนูญ  และอำนาจสั่งการในสายงานขึ้นอยู่กับเลขาธิการ กกต. จึงไม่สามารถก้าวก่ายได้  ซึ่งการเลือกผู้ที่จะมาทำงานหน้าที่ในคณะอนุกรรมการวินิจฉัยฯ นั้น เลือกจากคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ บางคนมีความเชี่ยวชาญเรื่องการสืบสวนไต่สวน โดยชุดนี้จะหมดวาระก่อนการเลือกตั้งในปีหน้า แต่เชื่อว่าทุกคนจะได้รับเลือกให้กลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง

การมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวันนี้จะเกิดประโยชน์ เพราะสำนวนที่ผ่านมือของแต่ทุกคนอาจจะเหมือนกันหรือแตกต่างกัน  ทั้งวิธีการคิดหรือการดำเนินงาน เชื่อว่าการแลกเปลี่ยนจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและขยายหลักความคิดมากขึ้น  


ทั้งนี้เห็นว่า ที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมและเป็นที่ยอมรับของสังคม จะเกิดได้จากความร่วมมือของประชาชนทุกคน เนื่องจากคนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเป็นประชาชน  เพราะประชาชนเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 52 ล้านคน  ผู้สมัคร ส.ส.ก็เป็นตัวแทนประชาชนที่อาสาตัวเข้ามา 

และประชาชนที่กกต.คัดเลือกมาทำหน้าที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง  รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. 2,000 กว่าคน ก็มีหน้าที่กำกับดูแล สร้างระเบียบ ให้ความรู้กับ กปน. ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในช่วงก่อนการเลือกตั้ง และควบคุมดูแลการเลือกตั้ง   


ทั้งนี้เมื่อมีเรื่องร้องคัดค้านเข้ามาเข้ามายัง กกต.ก็มีขั้นตอนการดำเนินการตรวจสอบ 5 ชั้น เริ่มจากคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน   ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เลขาธิการ กกต. คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งและคณกรรมกการเลือกตั้ง  โดยแต่ละชั้นไม่ขึ้นต่อกัน 


ทั้งนี้ในวันนี้ได้เชิญมาหารือเพื่อเป็นการถอดบทเรียนการดำเนินการไต่สวนสืบสวนและการดำเนินคดีเลือกตั้ง 

                          กกต.เตรียมพร้อมเลือกตั้ง ส.ส. ติวเข้มเจ้าหน้าที่สืบสวนไต่สวน
กกต.ชุดนี้ต่างจากชุดที่ผ่านมาเพราะผ่านการเลือกตั้งมาทุกระดับ โดยมีเรื่องร้องเรียนมายัง กกต.รวมกว่า 5,156 คดี  รับไว้พิจารณา 2,367 เรื่อง โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. 592 เรื่อง เหลือรับไว้วินิจฉัย 286 เรื่อง ยังมีเรื่องค้างพิจารณาอีก 6 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งซ่อม คาดจะแล้วเสร็จในปีนี้ 


 “ผมบอกแล้วว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องของประชาชน ถ้าผู้สมัครไม่เบี่ยงเบนหรือทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ทำอะไรเบี่ยงเบนเช่นกัน หรือแม้กระทั่งคนที่ทำหน้าที่ประจำหน่วย ถ้าไม่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็คงไม่มีปัญหา  


อย่างไรก็ตาม การทำอะไรในคนหมู่มากย่อมต้องมีสิ่งที่เค้าเรียกว่าบิดเบือนและบิดเบี้ยวไปบ้าง เพราะฉะนั้นถ้ากรณีปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผลการเลือกตั้งเกิดจากการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  แน่นอนมันอาจจะเป็นความปรากฏที่จะเข้ามาสู่อำนาจของ กกต.โดยแท้หรือเมื่อเห็นว่าเป็นเช่นนั้นอาจมีผู้ร้องคัดค้านขึ้นมา” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว 


ด้าน นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงกระบวนการดำเนินการสืบสวนที่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติในหลายเรื่อง โดยเฉพาะกระบวนการชั้นต้น ซึ่งในชั้นของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยเป็นเรื่องปลายน้ำ บางคนอาจไม่รู้กระบวนการต้นน้ำ แต่ก็ไม่อยากจะถาม เพราะกลัวเสียฟอร์ม 

                            ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ
วันนี้จึงมาถอดบทเรียนทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว เมื่อพูดถึงการฝ่าฝืนไม่ทำตามกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ต้องดูตั้งแต่กฎหมายแม่บท คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายจัดตั้ง เช่น ระเบียบบริหารการแผ่นดิน การกำหนดแผนและกระจายอำนาจ

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง  รวมถึงกฎหมายจัดตั้งองค์กร  ขณะนี้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยฯ กำลังดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จึงต้องมีความรู้กฎหมายท้องถิ่นและระเบียบ กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มี 30 กว่าระเบียบ  เมื่อจะวินิจฉัยเรื่องใดต้องนำหลักกฎหมายและระเบียบ กกต. เป็นเกณฑ์   


นายฐิติเชฏฐ์ ย้ำว่า การดำเนินคดีนั้นต้องให้ความสำคัญกับหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ เช่น กรณีการซื้อเสียง  จะต้องมีหลักฐานที่เป็นลายนิ้วมือแฝงในธนบัตรที่รับ แต่หากมีการนำเงินไปใช้  ไม่มีประจักษ์พยานแล้วก็จะต้องมีพยานแวดล้อม หรือ พยานที่น่าเชื่อถือว่ามีการใช้เงินซื้อเสียงจริง เช่น คลิปวิดิโอ  แต่ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระมัดระวัง เพราะหากเป็นคลิปแอบถ่าย เมื่อสำนวนไปถึงศาลแล้ว ศาลจะยกคำร้อง ส่วนกรณีการไปร่วมงานศพ ยังไม่มีข้อยุติจะต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป  


ทั้งนี้เห็นว่า ทุกคนเข้ามาทำงานตามกฎหมายและตามระเบียบ กกต. มีอำนาจเต็มใช้ระเบียบสืบสวน เสมือนเป็นเจ้าพนักงาน กกต. และมีอำนาจสั่งสอบสวนเพิ่มเติมหากสงสัยว่ากระบวนการสอบสวนยังไม่รัดกุมเพียงพอ
 

 

“การไปร่วมงานศพ ยังไม่ได้ข้อยุติ อย่างกรณีพวงหรีด บางคนเห็นว่าคำนวณเงินไม่ได้ เพราะพวงหรีดเป็นสิ่งอัปมงคล คงไม่นำกลับบ้าน ดอกไม้ที่ปักแล้วเหี่ยว ท่านจะเอากลับบ้านหรอ แต่หากเป็นดอกไม้แห้ง ก็สามารถยกให้โรงเรียนไป แต่ดอกไม้สดถือเป็นวัสดุสิ้นเปลือง แต่ในกรณีการให้จักรยาน  นาฬิกา ผ้าห่ม  พัดลม หรือ แจกตังค์ หากเสร็จงานศพท่านจะเผาจักรยาน พัดลม ไปพร้อมกับศพไหม เพราะถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง คำนวณเป็นเงินได้  อาจจะนำไปบริจาคต่อ  ดังนั้นจะต้องวินิจฉัยเป็นเรื่องไป” นายฐิติเชฏฐ์ กล่าว