วันนี้(22 ก.ย.65) ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และอดีตรมว.คลัง ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวชำแหละ “ค่าไฟแพง แก๊สแพง ใครทำร้ายประชาชน?” ระบุว่า ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบเป็นหลัก ซึ่งส่วนหนึ่งของค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายในชีวิตประชำวัน ก็คือ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส และค่าน้ำมัน
ในภาวะปัจจุบันที่นโยบายพลังงานมีผลต่อพี่น้องประชาชนอย่างมากกับเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ความมั่นคงทางพลังงานถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนแล้ววันนี้เรามั่นใจได้หรือยังว่า ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานและมีความมั่นใจได้หรือไม่ที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในภาพรวมของโลก ธนาคารโลก หรือ World Bank ออกมาระบุว่าภาพรวมยังคงมีความเสี่ยงและดูไม่สดใสมากนัก ยังคงอยู่ในลักษณะการถดถอย ทั้งในเรื่องของเงินเฟ้อและนโยบายการเงินต่างๆ
ธนาคาร ADB รายงานว่า ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ จะขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละประเทศและนโยบายต่าง ๆ ซึ่งของประเทศไทยจะเป็นไปอย่างช้า ๆ และค่อนข้างช้าจาก 2 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว-ถดถอย และ ต้นทุนพลังงานในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เมื่อประชาชนมีกำลังซื้อลดลงความสามารถในการฟื้นตัวก็ลดลงและได้รับผลกระทบกันเป็นขั้น ๆ “ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางและอ่อนไหวอยู่”
ดร.อุตตม กล่าวว่า กลไกในมือของรัฐบาลอย่าง ปตท. ถือเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วันนี้ถามว่ารัฐบาลสามารถให้ ปตท. ช่วยเหลือประชาชนได้ไหม ส่วนตัวเชื่อว่าทำได้ เพราะทางทรัพยากรต่าง ๆ และความเพียบพร้อมที่องค์กรมีแล้ว โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤติแบบนี้ก็สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง
ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย และอดีตรมว.พลังงาน ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า พรรคมองว่าสถานะการณ์ค่าครองชีพและสภาวะเศรษฐกิจหลังจากนี้ไป จนถึงวันเลือกตั้งถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน
สาเหตุที่อัตราค่าไฟฟ้าแพงในปัจจุบัน เนื่องจากค่า FT ซึ่งในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ค่า FT นั้นติดลบ จึงทำให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนถูกลง
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าแพงเกิดจากราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น โดยประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งหากมองย้อนกลับมาจะพบว่า ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่า นจากโรงงานไฟฟ้าของรัฐไปสู่เอกชน ในอัตรา 31% เท่ากัน
ปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่า เรายังติดปัญหาพันธะสัญญาการผลิตไฟฟ้าจากสัญญากว่า 50,000 เมกะวัตต์ แต่ในจุดพีคที่ใช้งานพลังงานไฟฟ้ามากที่สุดอยู่ที่เพียงกว่า 30,000 เมกะวัตต์เท่านั้น ขณะที่วันปกติจะลงมาอยู่ที่กว่า 20,000 เมกะวัตต์ นั่นแปลว่าประชาชนจะต้องแบกภาระค่าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตเกินมาเป็นจำนวนมากกว่า 50% ในบางวันที่ไม่ได้มีการใช้งานจากสัญญาที่รัฐบาลทำไว้
ขณะเดียวกันอัตราส่วนของพลังงานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีหลัง เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
"ได้มีการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลกำลังจะประสบปัญหาเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติต่าง ๆ ตอนที่ผมเป็นรมว.พลังงานแล้ว ซึ่งหากช่วงเปลี่ยนผ่านไม่สามารถทำได้อย่างราบรื่นประชาชนก็จะได้รับผลกระทบ"
เมื่อผลิตได้ลดลงก็จำเป็นที่จะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ เมื่อราคาโลกเพิ่มสูงขึ้น ก็ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเช่นกัน
“ส่วนตัวมองว่าการบริหารการเปลี่ยนผ่านพลังงานของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นการบริหารที่ล้มเหลว” นายสนธิรัตน์ กล่าวและว่า ขณะเดียวกันเมื่อราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากสูงขึ้น อัตราพลังงานค่าสินค้าก็เป็นเรื่องหนึ่งแต่ผู้ประกอบการประกอบกิจการอาหารที่ต้องใช้แก๊สในการปรุงอาหารได้รับภาระนี้ตามไปด้วย และส่วนตัวมองว่าราคาพลังงานนี้จะยังคงสูงขึ้นแบบนี้ไปจนกว่าจะจบฤดูหนาว
นายสนธิรัตน์ ตั้งคำถามว่า การที่รัฐบาลบริหารผิดพลาดแบบนี้ ประกอบกับราคาที่เพิ่มสูงขึ้นใครได้ประโยชน์ และใครจะเป็นคนรับผิดชอบ? รวมถึงรัฐบาลมีการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในส่วนนี้หรือไม่?
ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ เชื่อว่า ถ้าหากพรรคสร้างอนาคตไทย ได้เข้าไปบริหารจัดการจะไม่เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น
รัฐบาล และ ปตท. ต้องหยุดกลไกการบริหารพลังงานแบบเดิม ๆ เพราะพลังงานจะเป็นกลไกที่จะทำให้เศรษฐกิจพังทั้งระบบ วันนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงทำงานแบบเดิม ๆ อยู่หรือไม่ เรียกได้ว่าวันนี้ แพงทั้งแผ่นดิน คงต้องยืมคำนี้มาใช้
“แล้วโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรี ใครเป็นแตะเบรกโครงการนี้? ในช่วงที่มีสถานการณ์วิกฤตโควิด เราได้มีการคืนค่ามิเตอร์ไฟ และแก้ไขปัญหาทันที และวันนี้เงินส่วนนี้ไปอยู่ไหน” นายสนธิรัตน์ ตั้งคำถาม
เมื่อถามว่าสาเหตุที่รัฐบาลกลับมาขึ้นค่าพลังงานในช่วงนี้ เพื่อชดเชยเงินเยียวยาที่นำมาช่วยช่วงโควิด-19 นายสนธิรัตน์ ตอบว่า “ถ้าคิดแบบนี้ก็พังทลายกันหมด เพราะรัฐบาลเยียวยาแล้ว ไม่ได้แปลว่าต้องหาเงินคืนด้วยวิธีการแบบนี้”