7 พฤศจิกายน 2565 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ร่วมประชุมวุฒิสภาเพื่อชี้แจงกระทู้ถามเรื่องการควบคุมอาวุธปืน หลังจากเกิดเหตุก่อเหตุอาชญากรรมร้ายแรงหลายกรณีด้วยอาวุธปืนว่า มาตรการควบคุมอาวุธปืนนั้น ตามกฎหมายต้องทำเรื่องขอซื้อกับเจ้าหน้าที่นายทะเบียนซึ่งจะถูกตรวจสอบคุณสมบัติผู้ครอบครองว่า มีความครบถ้วนหรือไม่ เช่น ไม่ต้องโทษจำคุกตามกฎหมายอาญา เป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ ไม่มีการประพฤติชั่วร้ายแรง
ทั้งนี้ มีแนวคิดที่จะปฏิบัติให้รัดกุมมากขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น ต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ใช่คนที่มีสติฟั่นเฟือน นอกจากนั้นอาจต้องมีการรับรองพฤติกรรมโดยบุคคล เช่น นายจ้าง, กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้บังคับบัญชา และต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะๆ เช่น 3-5 ปีเพราะคนที่ขออนุญาตซื้อและใช้อาวุธปืนนั้น นานวันอาจจะเปลี่ยนไป เพราะยุ่งเกี่ยวกับการพนัน ยาเสพติด อบายมุข ดื่มสุรา ขาดสติ
ดังนั้น การขออนุญาตครั้งเดียวพิสูจน์ไม่ได้ จึงต้องมีการรับรองโดยบุคคล
พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงด้วยว่าสถิติการก่อเหตุอาชญากรรมจากอาวุธปืนปี 65 พบว่าเป็นปืนที่ไม่จดทะเบียนถึง 98.53% ดังนั้น ต้องเร่งแก้ปัญหาปืนเถื่อน อาทิ ปืนไทยประดิษฐ์ ปืนดัดแปลง ที่ถูกนำไปก่ออาชญากรรมมาก พุ่งเป้าการแก้ปัญหา ด้วยการนำปืนเถื่อนให้เข้าระบบ อาจจะออกกฎหมายให้นำมาคืน เหมือนที่เคยปฏิบัติ เช่น ให้นำมาคืนโดยไม่มีความผิด หากสามารถจดทะเบียนได้ จะอนุญาตให้ขึ้น
ขณะเดียวกันต้องปรับปรุงบทลงโทษ ขณะที่การตรวจสอบการขายอาวุธปืนผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ตามกฎหมายไม่สามารถทำได้ หากไม่มีใบอนุญาต เจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อยู่ระหว่างการดำเนินการ
"ถ้าไม่มีโทษที่แรงพอ คนจะไม่ให้ความสำคัญ ต้องแรงกว่านี้ ปัจจุบันมีโทษปรับ 2,000 - 20,000 บาท จำคุก 1-10 ปี ดังนั้น ต้องเพิ่มโทษให้แรงเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าเพราะเป็นคดีอาญาลงโทษรุนแรง
ส่วนคนที่พกปืนไปในสถานที่ต่าง ๆ นั้น ตามกฎหมายต้องได้รับอนุญาต ซึ่งการจะให้ใบพกไปสถานที่ต่างๆ นั้นยากมาก และให้ปีต่อปี หากพกโดยไม่ได้รับอนุญาต ง่าย ๆ คือ เจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้มงวดดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ผมยืนยันได้ ข้าราชการทหาร ตำรวจ บุคคลถ้วนไป พกถ้วนหน้ากัน คำถามที่ว่าจะทำอย่างไรกับคนที่พกปืนไปโดยไม่ขออนุญาต เจ้าหน้าที่ต้องไปจับ ไปกุม แค่นั้นผมขอตอบง่าย" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว