"ก้าวไกล"ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาลสั่งระงับประกาศ สธ.ปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติด

10 พ.ย. 2565 | 07:05 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2565 | 14:16 น.

"ก้าวไกล"ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาลปกครองสั่งระงับประกาศสธ.ปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติด ชี้ไม่ได้เป็นเพื่อการแพทย์อย่างแท้จริง เจอผสมในอาหารเกลื่อน แนะใช้ประกาศฉบับ 8 ธ.ค.63 รอพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ผ่านสภา 

วันนี้(10 พ.ย.65) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายชัยธวัช ตุลาธน  เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องเรียนการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือ ปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และเสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมายจากกรณีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ซึ่งมีผลในการปลดล็อคกัญชาออกจากเป็นพืชยาเสพติด 


นายวาโย กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการควบคุมกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม แต่กลับพบว่าเด็ก และเยาวชน  มีการเข้าถึงกัญชากันอย่างแพร่หลายไม่เว้นแม้แต่สถานศึกษา สะท้อนภาพสภาพบังคับของกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมการแพทย์แผนไทย ที่บัญญัติให้กัญชาเป็นพืชสมุนไพรควบคุม และในความเป็นจริงไม่สามารถทำให้เกิดสภาพบังคับที่แท้จริงของกฎหมายได้ 

จึงต้องมองกลับไปที่ต้นตอของปัญหาว่าประกาศของกฎกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับความเห็นชอบโดยตรงจาก รมว.สาธารณสุข จากความเห็นชอบของคณะกรรมการป.ป.ส.มีปัญหาหรือไม่ ซึ่งพรรคก้าวไกลพิจารณาเห็นว่า ปัญหา เพราะว่าเป็นประกาศที่ออกตามความประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่น่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งหมายเพื่อควบคุมการใช้ และปราบปรามยาเสพติด

                          ชัยธวัช ตุลาธน  เลขาธิการพรรคก้าวไกล

แต่ตัวประกาศปลดล็อคกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด โดยนักวิชาการ นักกฎหมาย หรือ แม้แต่อัยการมองว่า ตัวประกาศดังกล่าวขัดกับกฎหมายหลักที่ต้องการควบคุม และปราบปรามยาเสพติด ที่กำหนดให้สารสกัดในปริมาณใดปริมาณหนึ่งเป็นยาเสพติด แต่สารที่นำมาตั้งต้นไม่เป็นยาเสพติด

"สมมติถ้าเราบัญญัติว่าน้ำนมเป็นยาเสพติด แต่เราบอกว่าแม่วัวที่มีน้ำนมอยู่ในเต้าไม่เป็นยาเสพติด มันขัดกันเองโดยตัวอยู่ในสภาพของความสัมพันธ์ของสารตั้งต้นและยาเสพติด"   


ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้มีการอภิปรายรวมถึงเสนอแนะต่อรมว.สาธารณสุข เมื่อหลายเดือนก่อนว่าขอให้ถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับลงวันที่ 8 ก.พ. 2565 ออกไปก่อน โดยสามารถกลับไปใช้ประกาศฉบับลงวันที่ 8 ธ.ค.2563 ได้ ซึ่งประกาศตัวนี้น่าจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเจตนารมณ์ของรมว.สาธารณสุข ที่ต้องการปลดล็อกกัญชาออกจากพืชยาเสพติด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง 


นอกจากนี้ กรณีดังกล่าวยังมีผลกระทบระดับนานาชาติ เพราะประเทศไทยผูกพันธ์ภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ที่บัญญัติว่าประเทศภาคีสมาชิกย่อมให้ความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด และสามารถใช้กัญชาในกรณีวิทยาศาสตร์ และเพื่อการแพทย์เท่านั้น 

                                \"ก้าวไกล\"ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาลสั่งระงับประกาศ สธ.ปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติด
แต่ในทางปฏิบัติในประเทศไทย นำกัญชามาผสมลงไปในอาหาร ไอศกรีม ซอส และยังมีภาพโฆษณาโดยตัวรมว.สาธารณสุข ตามที่ปรากฏในสื่อ ซึ่งมองว่าวงการแพทย์ไม่คิดว่าการนำกัญชาใส่ลงไปในอาหารจะเป็นการแพทย์ได้อย่างไร อาจมีความสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดข้อครหา หรือเป็นผลกระทบในเชิงนานาชาติ

 

จึงขอผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและส่งเรื่องไปยังศาลปกครองเพื่อขอให้ คุ้มครองชั่วคราว โดยการพักใช้ตัวประกาศฉบับลงวันที่ 8 ก.พ. 2565 ไปก่อน และยกประกาศวันที่ 8 ธ.ค.2563 มาใช้ได้ ซึ่งตัวประกาศดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่ 


และจากประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 8 ข้อบังคับในประกาศเดิมสามารถใช้บังคับอยู่ ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อประมวล กฎกระทรวง หรือประกาศ ที่ออกตามความของกฎหมายหลักยาเสพติด แต่ไม่ได้บอกว่าสิ้นสภาพไป แต่เมื่อมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับลงวันที่ 8 ก.พ. 2565 จึงทำให้ความในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับลงวันที่ 8 ธ.ค.2563 กลายเป็นขัดหรือแย้งกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับลงวันที่ 8 ก.พ. 2565 จึงทำให้มิอาจใช้บังคับต่อไปได้ 


ดังนั้น ช่วงระหว่างที่ยังมีช่องว่างขณะที่สภาพบังคับของประกาศฉบับนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง จึงเห็นว่าสามารถนำกลับมาใช้ได้ รวมทั้งมองว่าประกาศลงวันที่ 8 ธ.ค.2563 เป็นไปเพื่อทางการแพทย์โดยแท้จริง และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่แพทย์ได้จ่ายยาที่เกี่ยวกัญชาสามารถยังคงใช้อยู่ได้  


ส่วนข้อกังวลที่มองว่าจะทำให้ผู้ที่ครอบครองกัญชามีความผิดหรือไม่ เห็นว่า ไม่ เพราะรมว.สาธารณสุขระบุว่ากัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และการซื้อหรือการวิจัยต้องมีการขออนุญาตตามพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งทำให้สังคมเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น จนกว่าที่จะมีกฎหมายออกจากสภามาควบคุมจริงๆ อย่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง แต่อาจจะมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถออกกฎหมายได้ 


ดังนั้น การมายื่นผู้ตรวจการแผ่นดินในวันนี้ ถือว่าเป็นการกันไว้อีกชั้นหนึ่ง ทำคู่ขนานกับสภา ถ้าสภามีกฎหมายออกมาบังคับใช้ก่อน และควบคุมได้ดีก็ว่ากันไป แต่ถ้ากฎหมายไม่สามารถออกจากสภาได้หรือออกมาบังคับใช้ไม่ดี อย่างน้อยก็ให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว