ซัดฝ่ายค้านอย่าอคติ ยันนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้าไทยกว่า 7.56 ล้านคน

11 พ.ย. 2565 | 03:09 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2565 | 10:45 น.

รองโฆษกรัฐบาล โต้ ส.ส.ฝ่ายค้าน เปิดข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติไหลเข้าไทย 7.56 ล้านคน ชี้ชัดนายกฯไม่เคยทอดทิ้งภาคท่องเที่ยว แนะวิจารณ์รัฐบาลให้อยู่บนข้อเท็จจริงไม่เอาอคติและประโยชน์การเมืองเป็นที่ตั้ง

วันที่ 11พ.ย.2565  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีมี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านได้ออกมาระบุถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวของประเทศไทยว่าโควิด19 คลี่คลายแล้วแต่นักท่องเที่ยวยังเดินทางมาประเทศไทยน้อยนั้น น่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยใช้ความรู้สึก โดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อมูลความจริง

 

ขณะนี้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่ต่างเผยแพร่ข้อมูลสถิติที่ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวดังกล่าวนั้นก็ส่งผลดีต่อการจ้างงาน การมีงานทำของแรงงานธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากมาย

 

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดเผยถึงข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 ต.ค. 65 รวมแล้วกว่า 7.56 ล้านคน และด้วยใน 2 เดือนสุดท้ายของปีเป็นช่วงไฮซีซัน ททท. จึงคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยในช่วงพ.ย.-ธ.ค. เดือนละ 1.5 ล้านคน ทำให้ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 10 ล้านคน
 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนที่ ส.ส. ท่านนี้ถามว่ารัฐบาลอ้างว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 6 ล้านคนนั้น และถึงสิ้นปีจะเพิ่มเป็น10 ล้านคน ไปเอาตัวเลขมาจากไหนนั้น ก็ต้องเรียนว่าตัวเลขของรัฐบาลมีการจัดเก็บโดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ

 

ทั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองในด่านทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ และประมวลผลโดย ททท. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจนได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อรายงานต่อรัฐบาลใช้ในการประกอบการดำเนินนโยบายต่างๆ


สำหรับประเด็นที่มีการ ระบุว่า ตัวเลขผู้ที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองนั้นเป็นกลุ่มคนต่างด้าวที่ใช้วีซ่าท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศนั้น ต้องให้ข้อมูลว่าปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผู้ที่ได้รับวีซ่าท่องเที่ยวจะพำนักในประเทศไทยได้นานที่สุด 45 วันเท่านั้น

 

ด้วยระยะเวลาดังกล่าว ผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยวไม่สามารถทำงานในประเทศไทยได้ ผู้จะทำงานในไทยได้จะต้องได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือ มี Work Permit เท่านั้น

 

นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) ได้ชี้ให้เห็นว่าชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว เห็นได้จากการเดินทางเข้าผ่านด่านท่าอากาศยานเป็นหลัก ขณะที่หากเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นจะเดินทางเข้าผ่านด่านทางบก

 

โดย สตม. รายงานว่า จากชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ 7.56 ล้านคนนั้น ช่องทาง 3 อันดับแรกที่มีการเดินทางเข้าคือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3.99 ล้านคน ท่าอากาศยานภูเก็ต 9.81 แสนคน และท่าอากาศยานดอนเมือง 5.83 แสนคน เพียง 3 ท่าอากาศยานนี้ก็คิดเป็นร้อยละ 73.51 ของจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งหมด

 

ส่วนการเดินทางผ่านด่านทางบกนั้นส่วนใหญ่เป็นการเดินทางผ่านด่านสะเดา จ.สงขลา 4.66 แสนคน และ ด่านหนองคาย 2.33 แสนคน
 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ให้ความสำคัญ ติดตามสถานการณ์ในภาคการท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด มีข้อสั่งการและมอบหมายงานให้หน่วยงานเกี่ยวข้องผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ และออกมาตรการสนับสนุนโดยต่อเนื่อง

 

ควบคู่กับการทยอยเปิดประเทศอย่างระมัดระวังเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวไปได้ ขณะเดียวกันคนไทยก็ต้องปลอดภัยจากโควิด19ด้วย ไม่ได้ยึดแต่ตัวเลขและการเติบโตจนละเลยความปลอดภัยและชีวิตของประชาชน

 

ขณะเดียวกัน ช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเนื่องจากนโยบายซีโร่โควิดนี้ นายกรัฐมนตรีก็มอบหมายทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และหน่วยงานเกี่ยวข้องในการหาตลาดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ตะวันออกกลาง ซึ่งก็สะท้อนจากตัวเลขการเดินทางเข้าไทยของชาวอินเดียที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอันดับ 2 ที่เดินทางเข้าไทย 6.79 แสนคน รองจากมาเลเซียที่ 1.28 ล้านคน

 

“ข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและส่งผลดีไปยังภาคต่างๆ โดยเฉพาะการบริโภคและการจ้างงาน เป็นเครื่องยืนยันว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ทอดทิ้งภาคการท่องเที่ยว ดังที่ ส.ส.ท่านี้กล่าวหา รัฐบาลได้ทำงานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดวางมาตรการต่างๆ ร่วมกัน ขณะที่ ททท. ก็จัดกิจกรรมหาตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆ นิ่งเฉย ก็คงไม่ได้เห็นข้อมูลภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่องดังที่ปรากฎอยู่ในขณะนี้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ได้มีกการระบุถึงการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่หยุดชะงักในช่วงเกือบ 3 ปีเนื่องจากสถานการณ์โควิดนั้น ก็เป็นสถานการณ์เดียวกับเมืองท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ขณะนี้สถานการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ก็ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับภาพรวมของประเทศไทย