รพ.มะเร็งในญี่ปุ่น เลือกไทย"ศูนย์กลางวิจัยยา-ผู้ป่วย"

24 พ.ย. 2565 | 03:57 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 11:48 น.

รพ.โรคมะเร็งระดับโลกในญี่ปุ่น เลือกไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยยาและการรักษาผู้ป่วยด้วยระบบการแพทย์ทางไกลของเอเชีย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในประเทศ ที่มีผู้ป่วยมะเร็งในอัตราสูง และเป็นหนึ่งในสาเหตุ ที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ รัฐบาลได้แสวงหาความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อลดอัตราการป่วย การเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย ตลอดจนลดการเสียชีวิตของคนไทยให้ได้มากที่สุด

 

โดยขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างดำเนินความร่วมมือ กับโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งแห่งชาติ  (National Cancer Center Hospital (NCCH)) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลโรคมะเร็งระดับโลก ภายใต้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ญี่ปุ่น (National Cancer Institute, Japan) เพื่อดำเนิน 2 โครงการวิจัยด้านมะเร็งในประเทศไทย

 

ได้แก่ Asian Cancer Trials Network (ATLAS) ที่เป็นโครงการพัฒนายา และเวชศาสตร์จีโนม (Genomic Medicine) ซึ่งเป็นการแพทย์ที่อาศัยเทคโนโลยีพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล เพื่อวินิจฉัยและพยากรณ์โรค และ โครงการ Decentralized Clinical Trials (DCT) ซึ่งศึกษาวิจัยการรักษาผู้ป่วยมะเร็งผ่านระบบ Telemedicine ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้การรักษาผู้ป่วยผ่านระบบทางไกลจากญี่ปุ่น และมีแพทย์ในประเทศไทย ร่วมควบคุมกระบวนการรักษา
 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ปัจจุบัน NCCH ได้ดำเนินโครงการลักษณะเดียวกันนี้เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูล การวิจัยในหลายประเทศในเอเชีย อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน แต่ NCCH ได้เลือกให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของการดำเนินการวิจัย

 

และประเทศไทย จะเป็นฐานการผลิตยารักษามะเร็งที่ได้จากการวิจัย เพื่อกระจายไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียต่อไป ซึ่งปัจจุบัน NCCH ได้ตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อขับเคลื่อนทั้ง 2 โครงการที่กรุงเทพฯ แล้ว
 

 

และเมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้บริหารของ NCCH ได้เดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แพทยสภา องค์การอาหารและยา(อย.) และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมโครงการ

 

และได้นำประเด็นความคืบหน้าต่างๆ ที่ได้มีการหารือระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อนำมาหารือกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข

 

เพื่อขอรับการสนับสนุน จากระดับนโยบาย ในช่วงที่นายอนุทินได้นำคณะเพื่อเดินทางไปศึกษาดูงาน ระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว