วันที่ 19 ธ.ค. 2565 มีรายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. นำสำนวนการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการซื้อขายรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รวม 4 สำนวน แบ่งเป็น กรณีกล่าวหาการซื้อขายมันสำปะหลังแบบจีทูจี 3 สำนวน คือ
1.กรณีกล่าวหานางพรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวก 2.กรณีกล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวก 3.กรณีกล่าวหา นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก
รวมถึงกรณีกล่าวหาคดีระบายข้าวแบบจีทูจีล็อตสอง ที่มีการกล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวก เช่น นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2 อดีตนายกฯ อีกด้วย เข้าหารือ
รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่เลื่อนการพิจารณาและลงมติในสำนวนของ นายไตรรงค์ และ นางพรทิวา จากการประชุมครั้งที่แล้ว เมื่อวันที่ 14-15 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น เพราะมีเอกสารหลักฐานประกอบสำนวนหลายชุด ไม่มีการแนบไว้ในสำนวน ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้เจ้าของสำนวนคือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. กลับไปแก้ไข และส่งหลักฐานเอกสารมาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการถกเถียงกันว่า การพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวของเจ้าของสำนวน อาจไม่สอดรับกับข้อเท็จจริงในประเด็นอำนาจหน้าที่ของ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกฯ และ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมด เพราะหากตีความแบบนี้ อาจจะบิดเบือน มติ ครม.ที่เคยออกไว้ก่อนหน้านี้
สำหรับสำนวนกล่าวหา นายไตรรงค์ ครม.ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติเมื่อปี 2552 วาระการรับจำนำมันสำปะหลัง ฤดูกาลผลิต 2551/2552 จำนวน 5 ล้านตัน ขยายเวลาโครงการในเดือน ธ.ค. 2552 และปิดโครงการปี 2554 โดยเพิ่มจำนวนอีก 5 ล้านตัน แปรสภาพจากมันสำปะหลังเป็นมันเส้น และแป้ง มัน
แต่ ครม.ของนายอภิสิทธิ์ มีการตั้งคณะขึ้นมาดูแล 3 ชุดคือ 1.คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังฯ มีนายไตรรงค์ และ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ 2 รองนายกฯ เป็นประธาน
2.คณะอนุกรรมการด้านการตลาดมันสำปะหลังฯ มีนางพรทิวา รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน 3.คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์การระบายมันสำปะหลังฯ มีนายมนัส สร้อยพลอย รักษาราชการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน โดยทั้ง 3 คณะดังกล่าวมีหน้าที่ดำเนินการกลั่นกรองและขออนุมัติตามลำดับชั้น การดำเนินการทั้งหมด ครม.จะพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่ของ ครม.
ในสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. คดีระบายมันสำปะหลัง ยุค ครม.ของ นายอภิสิทธิ์ มีจำนวน 8 ครั้ง โดย 7 ครั้งแรกประกาศเชิญชวนทั่วไปเพื่อการส่งออก แต่ครั้งที่ 8 มีการยกเลิก และให้ขายแบบจีทูจีแทน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เคยพบความผิดปกติว่า มีความพยายามจะขายแบบจีทูจี 2 ครั้ง คือ 1.ขายให้ Guangxi Mingyang Science & Technology แต่ไม่มีการแจ้งในสำนวนการไต่สวนครั้งนี้ 2.ขายให้ Guangdong Guanxin Trade Development Co, Ltd. แต่มีการยกเลิกการขายไปก่อน เพราะไม่มาทำสัญญา
มีพยานจากกระทรวงพาณิชย์ให้ปากคำว่า ช่วงเวลาดังกล่าว มีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ สั่งร่างสัญญาหนังสือเสนอซื้อแบบไม่มีเอกสารยืนยันประกอบ
แม้จะมีตัวแทนรัฐบาลจีนมาลงนามในสัญญาจีทูจี 3 ฉบับที่กรมการค้าต่างประเทศ แต่พบว่า 2 บริษัทในคู่สัญญา มีการส่งออกจริง แต่มีการส่งออกไปยังบริษัทอื่นด้วย ดังนั้นขั้นตอนการทุจริตอาจเกิดขึ้นในส่วนนี้ โดยที่ผู้บังคับบัญชาลำดับชั้นอื่น ๆ ไม่อาจทราบได้
โดยข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์รายนี้ ได้จัดทำเอกสารและชี้แจงนำเสนอไปยัง ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ โดยรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ขณะนั้น ทำหน้าที่รายงานเพื่อเสนอแก่ ครม. อย่างถูกต้องตามขั้นตอน เพราะอำนาจการอนุมัติเป็นของ ครม.เท่านั้น
มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากจะเอาผิดกับ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ จะต้องเอาผิดทั้ง ครม.ของ นายอภิสิทธิ์ ด้วย เพราะเป็นผู้อนุมัติ แต่จากการไต่สวน และตรวจสอบเส้นทางการเงิน ไม่พบว่า มีเส้นทางเงินไหลไปยังรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้แต่อย่างใด
สำหรับสำนวนการไต่สวนกล่าวหา นางพรทิวา กับพวกนั้น แม้มีพยานบางราย กล่าวอ้างว่า คนแวดล้อมทางการเมืองของ นางพรทิวา รวมถึงบริษัทเอกชนที่เข้ามาซื้อมีความใกล้ชิด กับนักการเมืองชื่อดังที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ขณะนั้นก็ตาม แต่ไม่พบความเชื่อมโยงเรื่องเส้นทางการเงินมาถึง นางพรทิวา รวมถึงคนแวดล้อม นางพรทิวา ที่ถูกกล่าวอ้าง ไม่มีการยืนยันว่า นางพรทิวา สั่งการเรื่องนี้ ดังนั้น จึงอาจเอาผิดได้แค่ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ และ คนแวดล้อม นางพรทิวา เท่านั้น
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในการประชุมวันนี้ ได้มีการพิจารณาสำนวนการไต่สวน คดีระบายข้าวจีทูจีล็อตสอง ที่มีการกล่าวหา นายบุญทรง กับพวก เช่น นายทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และกลุ่มเอกชนด้วยเช่นกัน