21 ธันวาคม 2565 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ได้เข้าสู่วาระ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่กรรมาธิการฯพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 95 มาตรา และยังค้างการพิจารณาเพื่อลงมติในมาตราที่ 3 มีเนื้อหาระบุว่า "กัญชา กัญชง" ไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
ปรากฎว่า เสียงส่วนใหญ่ 201 เสียง เห็นด้วยให้ตัดมาตราดังกล่าวออกไป โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับคณะกรรมาธิการฯ ที่ให้ตัดมาตรา 3 ทิ้งทั้งมาตรา ด้วยคะแนน 119 คะแนน งดออกเสียง 31 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่การอภิปรายในมาตรา 4 เกี่ยวกับบทนิยามความหมายอาทิ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การนำกัญชากับกัญชงมาพิจารณารวมกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม แต่ควรกำหนดเรื่องปริมาณสาร THC ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการพัฒนาสายพันธุ์ที่ให้ปริมาณสาร สูงขึ้นในอนาคต THC
นายเท่าพิภพ ลิ้นจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล และ นายบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อย อภิปรายไม่เห็นด้วยเรื่องที่ให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้รับจดแจ้ง
เนื่องจากเห็นว่า เป็นขั้นตอนยุ่งยากเกินไปสำหรับประชาชน อาจจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก ดังนั้น ควรเปลี่ยนไปมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นผู้รับจดแจ้ง จากนั้นให้รวบรวมเพื่อแจ้งยอดการขอจดแจ้งต่อ อย.แทน
ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การกำหนดเรื่องการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนเปิดช่องให้มีการนำกัญชาไปใช้เพื่อนันทนาการทำให้มีการบริโภคเสรีได้เองโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ เป็นการเขียนกฎหมายที่มีความกำกวมและซ่อนเร้น ซึ่งจะเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล เพราะประชาชนสามารถขอรับยาที่ผลิตจากกัญชาได้อยู่แล้ว คิดว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนเรื่องการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ไม่ใช่วัตถุประสงค์อื่น
อย่างไรก็ดี เบื้องต้นมีรายงานสำหรับภาพรวมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงว่า ยังคงเป็นไปด้วยความล่าช้าเนื่องจากมีจำนวนสมาชิกผู้ขออภิปรายจำนวนมาก และเกิดปัญหาเรื่องขององค์ประชุมที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดปัญหาสภาล่มขึ้นมาอีก