นายกฯ "ยุบสภา" หลังครม.อนุมัติงบฯปี 67

22 ธ.ค. 2565 | 09:14 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2565 | 08:17 น.

นายกฯ ตั้งเป้า “ยุบสภาผู้แทนราษฎร” หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณปี 2567 นัดประชุม 4 หน่วยงาน ถกรายละเอียด ก่อนเสนอครม. 10 ม.ค. 2566

การยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะประกาศยุบสภาเพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้ง หลังจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 หรือ งบฯปี 2567 ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

“การที่นายกฯเลือกยุบสภา หลังงบฯปี 67 ผ่านการอนุมัติจากครม. เพื่อให้การจัดทำงบฯไม่สะสุด รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาสามารถเสนองบฯ ให้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่พิจารณาและประกาศใช้ได้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบฯ67 ให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้” แหล่งข่าว ระบุ

 

ขณะนี้รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยตามปฏิทินงบประมาณ ได้กำหนดขั้นตอนการจัดทำงบประมาณเอาไว้ชัดเจน ซึ่งเบื้องต้นในกรอบวงเงิน และโครงสร้างงบประมาณนั้น จะได้ข้อสรุป และเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาได้ภายในวันที่ 10 มกราคม 2566 นี้ 

 

ภาพประกอบข่าวนายกฯ เล็งยุบสภาหลังครม.อนุมัติงบฯ ปี 67

ขีดเส้นทำคำของบภายใน 27 ม.ค.66 

 

ส่วนขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ หลังจากกรอบวงเงิน และโครงสร้างงบประมาณผ่านการเห็นชอบจากครม.แล้ว นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้มอบนโยบาย ก่อนให้หน่วยงานต่าง ๆ กลับไปจัดทำคำของบประมาณ และส่งมาให้สำนักงบประมาณผ่านระบบ e-Budgeting ภายในวันที่ 27 มกราคม 2566 

 

จากนั้นสำนักงบประมาณ จะพิจารณาและจัดทำรายละเอียดงบประมาณ ระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 7 มีนาคม 2566 เพื่อนำเสนอครม.เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณ พร้อมแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณ ในวันที่ 14 มีนาคม 2566 และในขั้นตอนต่อไป สำนักงบประมาณ จะพิจารณาปรับปรุงรายละเอียด และเสนอให้ครม.เห็นชอบการปรับปรุงอีกครั้ง ในวันที่ 28 มีนาคม 2566

 

ส่วนขั้นตอนต่อจากนั้น สำนักงบประมาณ จะไปเปิดรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 12 เมษายน 2566 ก่อนสรุปครม.รับทราบการรับฟังความคิดเห็น และเห็นชอบให้จัดพิมพ์ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ และเอกสารประกอบ เพื่อเสนอครม.เห็นชอบในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร ตามขั้นตอนต่อไป

 

"ขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าการยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้นจะอยู่ในช่วงไหนของการจัดทำงบประมาณ เพื่อไม่ให้การจัดทำงบประมาณสะดุด"แหล่งข่าวระบุ

ภาพประกอบข่าวนายกฯ เล็งยุบสภาหลังครม.อนุมัติงบฯ ปี 67

นัด 4 หน่วยงานประชุมงบฯ ปี 67 

 

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการจัดทำงบประมาณ โดยในวันที่ 4 มกราคม 2566 จะมีการประชุม 4 หน่วยงาน คือ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

 

ทั้งนี้เพื่อพิจารณารายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบการรายงานผลการแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 - 2569) ซึ่งจะกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณเบื้องต้นเอาไว้ ทั้ง ประมาณการงบประมาณรายจ่าย การขาดดุลงบประมาณ ยอดหนี้สาธารณะ และประมาณการรายได้สุทธิ

 

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบแผนการคลังระยะปานกลาง ซึ่งเป็นรายงานฉบับเดิมที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ ได้กำหนดรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ดังนี้

  • ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ วงเงิน 2.56 ล้านล้านบาท
  • ประมาณการงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 3.27 ล้านล้านบาท
  • การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จำนวน 7.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.8% ต่อ GDP
  • ยอดหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 65.59%
  • ประมาณการ GDP ขยายตัวในช่วง 2.9 – 3.9%

 

ภาพประกอบข่าวนายกฯ เล็งยุบสภาหลังครม.อนุมัติงบฯ ปี 67

 

นายกฯ เตรียมมอบนโนบายทำงบฯปี 67

 

นายเฉลิมพล กล่าวว่า หลังจากประชุม 4 หน่วยงานเสร็จสิ้น ในวันที่ 12 มกราคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นผู้มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณกับทุกหน่วยงานราชการ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี 

 

“ขณะนี้กรอบวงเงินการประมาณการรายได้รัฐบาล และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว หลังจากนี้ 4 หน่วยงานจะประชุมและเคาะตัวเลขต่าง ๆ ที่ชัดเจนอีกครั้ง” นายเฉลิมพล ระบุ

 

ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีการยุบสภาขึ้น จะส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณหรือไม่ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ยอมรับว่า การจัดทำงบประมาณจะไม่มีการสะดุด เพราะขั้นตอนต่าง ๆจะเป็นไปตามปฏิทินงบประมาณ ส่วนอำนาจของนายกรัฐมนตรี หากยุบสภาแล้วเป็นนายกฯ รักษาการ จะไม่สามารถทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย หรือการใช้เงินงบกลางได้แล้ว เพราะหากจะทำอะไรก็ต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาก่อน